หุ้น Grab Holding ร่วงลง 37% เมื่อวานนี้ หลังจากบริษัทรายงานการขาดทุนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ทำให้มูลค่าตลาดลดลง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ประกาศควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC (Special Purpose Acquisition Company) อย่าง Altimeter Growth Corp. ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สำหรับ Super App ที่ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่เรียกรถ สั่งอาหาร ซื้อของ จองที่พัก ตลอดจนบริการทางการเงินอย่าง Grab นับตั้งแต่เปิดตัวมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงถึง 63% และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ทำผลงานแย่ที่สุดโดยดัชนีหุ้น Nasdaq
การระบาดของโควิดได้ส่งผลต่อบริการเรียกรถ ดังนั้น Grab จึงได้ขยับขยายธุรกิจจัดส่งอาหารเพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้จ่ายของลูกค้าบนแพลตฟอร์ม Grab เพิ่มสูงขึ้น แต่การเติบโตนั้นก็ยังไม่ได้ทำกำไรให้กับบริษัท เพราะรายรับจากบริการเดลิเวอรี่ในไตรมาสที่แล้วทำได้เพียง 1 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
Grab มีผลขาดทุนสุทธิแตะ 1.06 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 สูญเสียเพิ่มขึ้นถึงเกือบสองเท่า และเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการประมาณการณ์จากนักวิเคราะห์ไว้ที่ 645 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากต้นทุนดอกเบี้ยที่ไม่ใช่เงินสดและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้รายได้ลดลง 44% อยู่ที่ 122 ล้านดอลลาร์
จำนวนรายรับรายไตรมาสของ Grab มีความผันผวนอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลจากการทุ่มเงินไปเพื่อดึงดูดผู้ใช้และผู้ขับขี่
โดยในไตรมาสนี้ทุ่มงบประมาณ 443.3 ล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นยอดเดลิเวอรี่ ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีก่อนหน้า จากผลการดำเนินงานของ Grab ที่ได้มีการเปิดเผยออกมา ทำให้นักลงทุนได้เห็นรายละเอียดและที่มาที่ไปของงบการเงิน จึงส่งผลให้นักลงทุนพากันขายหุ้น Grab ทิ้งเช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ได้ทำกำไร
ทั้งนี้ Grab เริ่มขาดทุนตั้งแต่ช่วงก่อตั้งและยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าสามารถทำกำไรได้ และด้วยการเข้ามาของโควิดก็ยิ่งส่งผลกระทบให้การใช้งานบริการเรียกรถและเดลิเวอรี่มียอดการใช้งานลดลง และเมื่อปีที่แล้ว Grab ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 พันล้านดอลลาร์ จาก 2.6 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า โดยมียอดรวมของการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม (Gross Merchandise Value: GMV) มูลค่ารวม 1.61 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับที่วางไว้ประมาณ1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากคู่แข่งอย่าง Sea Ltd. บริษัทอินเทอร์เน็ตที่นับว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Gojek ธุรกิจเรียกรถจากอินโดนีเซียที่ควบรวมกิจการกับ PT Tokopedia จนเกิดเป็น GoTo ที่ในปีนี้กำลังวางแผนเพื่อขายหุ้น IPO ในอินโดนีเซียรวมถึงอเมริกา
Sign in to read unlimited free articles