เปลี่ยนมุมมอง ยืดหยุ่นบ้าง พาองค์กรประสบความสำเร็จ ด้วย Flexible working hours เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น | Techsauce

เปลี่ยนมุมมอง ยืดหยุ่นบ้าง พาองค์กรประสบความสำเร็จ ด้วย Flexible working hours เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น

เคยไหม ? ตื่นแต่เช้าไปทำงาน เจอรถติดเป็นชั่วโมง ไปถึงบริษัทพลังก็หมดแล้ว คิดงานไม่ออกหัวไม่แล่น สุดท้ายงานก็ไม่เสร็จ ถ้าคุณหรือคนในทีมของคุณกำลังเจอปัญหานี้อยู่ ทำไมไม่ลองทำความรู้จักและปรับใช้ Flexible working hours หรือการยืดหยุ่นเวลาการทำงานดูหละ

ปี 66 คนไทยเครียดงานจัด

ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับ ‘ความเครียด’ โผล่ขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวันจนเหมือนเป็นเรื่องปกติของสังคมกันไปแล้ว แต่ถ้ามองให้ลึกถึงต้นตอจะพบว่า ส่วนใหญ่ล้วนมีสาเหตุมาจากการทำงาน

เมื่อเดือนมกราคม สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เปิดเผยข้อมูลว่า มีคนอายุ 20-59 ปี โทรมาปรึกษาความเครียดเพราะไม่มีความสุขกับการทำงานเกือบ 6,000 สาย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมดกว่า 8,000 สาย

สถิติดังกล่าวสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า คนไทยเครียดกับการทำงานมากจนเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและอาจเห็นวิธีแก้มาแล้วมากมาย

ในบทความนี้ เราจึงอยากเสนอ “Flexible working hours” เป็นอีกหนึ่งทางแก้ที่ไม่เพียงแต่ลดความเครียดจากพนักงาน แต่ยังช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อีกด้วย

แน่นอนว่าการทำงานตรงตามเวลาที่องค์กรกำหนดถือเป็นการทำงานที่มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบ …แต่จะดีกว่าไหม ?  ถ้าผู้ทำงานได้มีส่วนกำหนดเวลาด้วย

Flexible working hours ตอบโจทย์ยังไง 

แล้ว Flexible working hours คืออะไร ? แปลง่าย ๆ เลยคือ เวลาทํางานที่ยืดหยุ่น …แต่ไม่ได้หมายถึงไม่เข้าทำงานเลย หรือส่งงานช้าได้ตามอำเภอใจล่ะ

Flexible working hours คือ การให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยพนักงานอาจเข้าออกออฟฟิศเร็วกว่าหรือช้ากว่าเวลาที่กําหนดไว้ได้ แต่ต้องทำงานให้ครบชั่วโมงตามที่องค์กรกำหนด

ส่องบริษัทต้นแบบ Flexible working hours

Google

บริษัท Google ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ที่เข้าใจความต้องการพนักงาน ได้นำรูปแบบการทำงานแบบ Flexible hours มากระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์ผลงานได้เต็มประสิทธิภาพ

นโยบายหลัก ๆ ที่ใช้คือ พนักงานสามารถกำหนดวันหรือสัปดาห์ที่จะงดประชุมได้เพื่อสร้าง Work-life balance  และมี Reset Day หรือวันที่ให้พนักงานเลือกหยุดพักผ่อน  นอกจากนี้ Google ยังสร้างฟีเจอร์ที่เรียกว่า Focus Time ใน Google Calendar โดยสมาชิกในทีมสามารถตั้งฟีเจอร์นี้ตัดแจ้งเตือนทั้งหมด เพื่อโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า หากมีสายโทรประชุมเข้ามาก็จะปฏิเสธไปโดยอัตโนมัติ

Google จึงติดอันดับหนึ่ง บริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุด จาก Fortune ถึง 8 ครั้งในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา และยังได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเทค ฯ ที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีที่สุด โดยได้คะแนนรีวิวจากเว็บไซต์ Glassdoor ไปถึง 4.4

Apple

ในหนึ่งสัปดาห์ พนักงานจะต้องไม่ทํางานติดต่อกันเกิน 5 วัน ยกเว้นช่วงระหว่างการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมปรับชั่วโมงทำงานขั้นต่ำเป็น 10 ชม. จากเดิม 12 ชม. โดยพนักงานสามารถทำงานเลย 6 โมงเย็นได้แค่ 3 วันต่อสัปดาห์

จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จต่างสร้างนโยบายเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น นั่นแปลว่าข้อดีของ Flexible working hours ไม่ได้มีแค่สำหรับพนักงาน แต่ยังส่งผลดีกับองค์กรอีกด้วย

รวมข้อดีสำหรับองค์กร

ดึงดูดคนรุ่นใหม่

สมาคมวิชาชีพด้านทรัพยากรบุคคล (SHRM) ชี้ พนักงานกว่า 55% กล่าวว่า Work life balance และความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นปัจจัยสําคัญที่ทำให้ชอบงานที่ทำ

แน่นอนว่าสมัยนี้ใคร ๆ ก็ชอบทำงานที่ที่ยืดหยุ่นไม่ตึงเครียดจนเกินไป การที่องค์กรมีนโยบายนี้จะสร้างภาพลักษณ์บริษัทให้ดูทันสมัยและเป็นกันเอง ช่วยดึงดูดพนักงานใหม่ ๆ ที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมทำงาน

อีกทั้งหากสร้างความประทับใจแก่พนักงานปัจจุบันได้ โอกาสที่พวกเขาจะไปหางานที่อื่นทำก็ลดน้อยลงเช่นกัน

จากผลการสำรวจประจำปี 2562 ของ FlexJobs  ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 30% ออกจากงานเพราะบริษัทไม่มีข้อเสนอการทํางานที่ยืดหยุ่น และ 80% ยอมรับว่าตนจะภักดีต่อนายจ้างมากขึ้นหากพวกเขามีข้อเสนอดังกล่าว

กระตุ้นคุณภาพพนักงาน

รายงานจาก FlexJobs เผย ผู้คนกว่าร้อยละ 97 เห็นด้วยว่างานที่ยืดหยุ่นสร้างผลดีกับคุณภาพชีวิต

มนุษย์เราแตกต่างกัน ไลฟสไตล์การทำงานของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน บางคนอาจสมองแล่นตอนดึก บางคนสมองรับได้ติดต่อกันไม่เกิน 4 ชม. เป็นต้น การหวังให้พนักงานทำงานตามเวลาที่กำหนดไว้เป๊ะ ๆ อาจสร้างความตึงเครียดจนพนักงานเกิดภาวะ Burnout และใช้เวลาไปกับการส่องนาฬิกา นับถอยหลังมากกว่าการทํางานจริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกเช้าวันธรรมดา ถนนประเทศไทยเนืองแน่นไปด้วยรถและมนุษย์ทำงาน หากพนักงานสามารถกะเวลาเข้าออฟฟิศใหม่เพื่อเลี่ยงชั่วโมงรถติดได้ก็จะไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องไปสาย และใช้ช่วงเวลาทำงานที่เลือกไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ลดต้นทุน

องค์กรย่อมมีค่าใช้จ่ายเมื่อพนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศเป็นเวลานาน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในออฟฟิศ แต่หากมีนโยบายเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น พนักงานอาจทำงานภายในออฟฟิศเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ทางองค์กรจะสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้มาก

องค์กรไทยกับเส้นทางสู่ Flexible working hours 

ในปัจจุบันองค์กรไทยที่มีนโยบายเวลาทำงานยืดหยุ่นยังมีไม่มากนัก ดังนั้นหากทุกคนอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วสนใจ อยากนำไปปรับใช้กับบริษัทหรือธุรกิจของตน เราได้รวบรวมแนวทางการนำ Flexible working hours มาปรับใช้กับองค์กรไทยไว้ให้ในหัวข้อนี้แล้ว

เนื่องจากคำว่า Flexible แปลว่า ‘ความยืดหยุ่น’ การทำงานแบบ Flexible working hours จึงไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว เพียงแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพึงพอใจร่วมกันระหว่างฝ่ายองค์กรและฝ่ายพนักงาน หรือ win-win กันทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

Flexi time

เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยม เนื่องจากไม่บังคับเวลาเข้า-ออกทำงาน แต่วิธีนี้จะไปกำหนดในส่วนของระยะเวลาในการทำงานแต่ละวันแทน ซึ่งหมายความว่าพนักงานจะเข้าออกเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องมีชั่วโมงทำงานครบตามที่องค์กรกำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น

บริษัทนึงกำหนดให้ทำงาน 8 ชม./วัน พนักงานสามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะกับตัวเองได้

  • Early bird มนุษย์ตื่นเช้า ไปเร็วกลับเร็ว เลี่ยงรถติด อาจเลือกช่วง 7.00 – 15.00 น. 
  • Night owl มนุษย์ค่ำคืน สมองแล่นตอนดึก ขี้เกียจตื่น อาจเลือกช่วง 10.00 – 18.00 น.

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจต้องระวังเรื่องการบริหารคนในทีม เพราะเมื่อแต่ละคนมีเวลาเข้าออกเป็นของตัวเอง การนัดประชุมหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ  พร้อมกันจะเป็นเรื่องยาก และถ้าช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งขาดพนักงานก็จะเกิดความล่าช้าซึ่งส่งผลเสียต่อบริษัท

ลดวันงานต่อสัปดาห์ (Condensed workweeks)

การปรับวันทำงานในแต่ละสัปดาห์ให้น้อยลง เช่น จากปกติทำงาน 5 วัน/สัปดาห์เปลี่ยนเป็นทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ทำให้พนักงานมีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน ทั้งนี้ วิธีนี้อาจต้องระวังไม่ให้ชั่วโมงการทำงานของพนักงานทั้งหมดยาวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ลดวันงานต่อปี (Annualized hours)

รูปแบบที่โฟกัสชั่วโมงการทำงานต่อปี โดยกำหนดข้อตกลงกับพนักงานว่าต้องทำงานขั้นต่ำกี่ชั่วโมงภายในหนึ่งปี ซึ่งหมายความว่าพนักงานสามารถวางแผนล่วงหน้าเวลาเอาเองได้ว่าจะทำงานตอนไหน จะหยุดพักร้อนยาวแค่ไหน เพียงแค่ทำงานให้ครบชั่วโมงที่กำหนดในหนึ่งปี แต่วิธีนี้อาจเหมาะกับองค์กรที่เปิด ให้บริการทุกวัน หรือทำงานตลอดทั้งปีมากกว่า

การใช้วิธีนี้ องค์กรอาจต้องคอยรักษาการติดต่อกับพนักงานในกรณีที่พนักงานไม่มาทำงานเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้ขาด engagement ต่อกัน

Term-time working

นับเป็นวิธีที่มีความยืดหยุ่นมาก เนื่องจากพนักงานสามารถกำหนดวันเวลาที่จะเข้ามาทำงานหรือไม่มาทำงานได้โดยต้องแจ้งล่วงหน้าให้เป็นแบบแผน ในวันที่ไม่เข้ามาทำงานก็จะไม่มีค่าจ้างให้ วิธีนี้จะเหมาะกับพนักงานที่ยังเรียนอยู่หรือวางแผนจะเรียนต่อ 

อ้างอิง : inside.6q , abilityoptions , vantagecircle , bangkokbanksme , cio , flexjobs 

viewsonic , croner 

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...

Responsive image

พนักงาน 47% ไม่คิดอยากเลื่อนขั้น เพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม

จากสำรวจล่าสุดพบว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะต้องการความสุขและพึงพอใจในบทบาทปัจจุบัน มากกว่าต้องก้าวหน้าไปรับผิดชอบงานที่มากขึ้น...