บรรดา VC ซึ่งประกอบไปด้วย Y Combinator, Target Global, OTB Ventures, TheVentureCity รวมถึง Sequoia Capital ได้ออกคำแนะนำ เพื่อให้สตาร์ทอัพต่างๆ เตรียมรับสภาพขาลงของตลาดอย่างจริงจัง หลังจากที่เราผ่านช่วงขาขึ้น หรือตลาดกระทิงมา 13 ปีแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ Y Combinator (YC) ซึ่งเป็น Venture Capital ที่ลงทุนใน Startup เจ้าดังหลายเจ้า อย่าง Dropbox, Coinbase, Airbnb และ Reddit รวมถึง Startup อีกหลายร้อยรายต่อปี ได้ออกแถลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงสภาพเศรษฐกิจที่อาจจะอยู่ในช่วงขาลงอย่างจริงจัง
ในแถลงการณ์เรื่อง “Economic Downturn” ของ Y Combinator ได้เตือนเหล่าบรรดา Startup ไว้ว่า หากบริษัทของคุณกำลังเตรียมจะระดมทุนในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ อาจจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะช่วงนั้นอาจเป็นจุดที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทของคุณมีโอกาสจะประสบความสำเร็จน้อยลง ถึงแม้ว่าบริษัทของคุณจะทำผลงานดีเป็นที่น่าประทับใจก็ตาม
ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากในแถลงการณ์ของ Y Combinator ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าจะเกิดภาวะตลาดช่วงขาลง เราจะสามารถสังเกตได้จากการที่มูลค่าหุ้นของบริษัทเทคฯ ลดลง เช่น จากข่าวยักษ์ใหญ่อย่าง Shopify และ Netflix ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเริ่มต้นเท่านั้น
จากอัตราเงินเฟ้อสูงที่มีในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่า หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับแผนครั้งใหญ่ หลังจากที่ VC หลายเจ้า ให้เงินทุนแก่บริษัทต่างๆ มากเป็นประวัติการณ์ ในช่วง 2020-2021 ซึ่งปี 2022 จะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว
ทาง Sequoia Capital ตั้งข้อสังเกตผ่าน The Information ว่ากองทุนใหญ่ๆ มักจะชะลอการให้เงินทุนสตาร์ทอัพในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และจะเลือกให้เงินทุนเฉพาะบริษัทที่มีผลงานดีที่สุดเท่านั้น จึงทำให้เกิดรอบการระดมทุนที่น้อยลง ทั้งนี้ทาง Sequoia ก็ยังคาดหวังว่าตลาดจะฟื้นตัวแบบ “V-shaped recovery” ได้ ดูรายละเอียดของแถลงการณ์
Lina Chong ผู้อำนวยการด้านการลงทุนของ Target Global ซึ่งลงทุนในบริษัทระยะ Early stage และระยะ Growth กล่าวว่า บริษัทที่แข็งแกร่งที่มีเส้นทางที่ชัดเจนเท่านั้นจึงจะยังสามารถสร้างกำไรได้ คุณ Chong ยังได้ให้ความเห็นว่า ในระยะนี้ บริษัทต่างๆ จะมีการทำ Downside Protection มากขึ้น โดย Downside Protection จะเป็นการสร้างโมเดลลดการเกิด Drawdown ของกิจการ เช่น อาจมีการ Hedging การลดขนาดกิจการ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน คุณ Chong ได้ยกตัวอย่างในภูมิภาคยุโรป โดยชี้ให้เห็นว่าสตาร์ทอัพที่คุ้นเคยกับการได้รับเงินผ่านการระดมทุนอย่างเดียว จะต้องดิ้นรนในสภาวะตลาดปัจจุบัน ยิ่งถ้ากิจการไหนสร้างอัตราการใช้งบประมาณ หรือ Burn rate ไว้สูง อาจจะส่งผลต่อการเติบโตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ อาจมีแนวโน้มที่บริษัทจะล้มเลิกกิจการและถูกบังคับขาย ทำ Liquidation หรือ ชำระบัญชีมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับอัตราที่บริษัทจะควบรวมกิจการ (Merger & Acquisiton) น้อยลง
ภาพสถิติจำนวนรอบการระดมทุนที่ไต่ระดับสูงมาตลอด ก่อนจะลดลงในปี 2022 นี้ Cr.Seedlegals
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามภาคธุรกิจ บริษัทที่กำลังเติบโตในระยะ Growth-Stage จะเสี่ยงต่อความผันผวนมากที่สุด เพราะบริษัทเหล่านี้จะต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินทุนอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางกระแสผู้คนที่ต่างรอดูว่าการปรับฐานของราคาในตลาด (Market Correction) และเงินเฟ้อจะจบลงเมื่อใด
และเมื่อมองที่แต่ละภาคธุรกิจ ทาง Sequoia Capital คาดการณ์ว่า ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจะกระทบกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลาดการจ้างงาน ดังนั้นจึงมองว่าธุรกิจ B2C ที่ต้องติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงนี้ ในขณะที่บริษัท B2B ก็ดี หรือบริษัทที่ให้บริการ SaaS (Software as a Service) อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
สอดคล้องกับความเห็นของ Marcin Hejka ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนทั่วไปของ OTB Ventures ซึ่งเป็น Venture ที่เชี่ยวชาญการลงทุนในบริษัทที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่น BabbleLabs, Scalarr และ Kevin. โดย Marcin กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะกระทบกับทุกบริษัท แต่บริษัทที่มีเทคโนโลยีแข็งแกร่งจะมีทางออกที่ดีกว่า
ไม่มีกิจการไหนที่รอดจากผลกระทบเลยเมื่อมองจากมุมเศรษฐกิจมหภาค แต่สำหรับกิจการที่ใช้ Deeptech แล้ว น่าจะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในครั้งนี้
นอกจากนี้ Marcin ได้ยกตัวอย่างกิจการที่ OTB ได้เข้าไปลงทุนล่าสุดอย่างในบริษัท Kevin. ซึ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน โดย Kevin. มี Valuation เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการระดมทุนรอบก่อนหน้า ศักยภาพของบริษัทก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเพราะว่าบริษัทใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย
ทาง Y Combinator แนะนำให้ทุกบริษัทเปลี่ยนแผนดำเนินงานให้รองรับกับความไม่แน่นอนในอนาคต โดยแนะนำให้บรรดา Startup ลดค่าใช้จ่ายและมุ่งขยายเงินทุนสำรองที่ใช้ดำเนินกิจการหรือขยาย Runway ของบริษัท ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการในอนาคต ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ถึงขั้นเกิดหนี้เสียในกิจการได้ และแนะนำให้พิจารณาการหาเงินทุนสำหรับกิจการเพิ่มด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพิจารณารับเงินที่ได้จากการระดมทุน เจ้าของกิจการควรศึกษาเงื่อนไขการรับทุนก่อนทำสัญญา สิ่งที่จำเป็นคือ ต้องใช้ทรัพยากรในองค์กรของตัวเองให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด (Bootstrap) ก่อนจะใช้เงินของนักลงทุน การดึงศักยภาพขององค์กรให้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายก่อนที่เงินสดจะหมด เรียกว่าทำให้บริษัทมีสถานะ “Default alive” อยู่ตลอด
ที่สำคัญ Y Combinator ยังแนะนำว่า บริษัทต้องไปถึงจุด Product Market Fit ให้ได้ โดยเฉพาะถ้ากิจการกำลังอยู่ในระดับ Series A โดยจุด Product Market Fit คือจุดที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่ดีมากต่อผู้ใช้ ในตลาดที่สเกลใหญ่มากพอ จึงจะการันตีได้ว่ากิจการจะอยู่รอดในช่วง Downturn และพร้อมเติบโตจน VC และกองทุนกล้าที่จะให้เงินระดมทุนในรอบถัดไป
ทางฝั่งของ Chong จาก Target Global ก็ได้ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกัน ในเรื่องการสนับสนุนให้เจ้าของกิจการสร้างรายได้เพิ่ม ก่อนที่จะพึ่งการระดมทุนอย่างเดียว โดยกล่าวว่า
ถ้าลดการพึ่งพาการระดมทุนในตอนนี้ได้ และเน้นการขยาย Runway ของบริษัทแทน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกันนั้น Laura González-Estéfani ผู้ก่อตั้งของ TheVentureCity ให้ความเห็นว่า สตาร์ทอัพควรปรึกษา VC เจ้าของเงินทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะ VC ที่เข้าไปลงทุนจะมีความเชี่ยวชาญที่มากกว่า ทั้งนี้ กิจการก็ต้องทำให้ VC มั่นใจด้วยว่า กิจการจะกลับมาอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งอีกครั้ง หากได้รับการระดมทุนใหม่
สรุป คำแนะนำในการปรับตัวของ Startup
1) สร้างรายได้ให้แข็งแกร่ง ใช้กลยุทธ์ “Default alive” ก่อนพึ่งการระดมทุน
2) ลด Burn Rate & ค่าใช้จ่าย รวมทั้งขยาย Runway บริษัท
3) นำพาบริษัทไปสู่จุด Product Market Fit
4) ใช้ Deep Tech เข้ามาช่วยกิจการ
5) ปรึกษาคำแนะนำจาก VC
อ้างอิงจาก
YC advises founders to ‘plan for the worst’ amid market teardown
What’s going on with European startup valuations?
Sequoia Warns Founders of ‘Crucible Moment,’ Advises How to ‘Avoid the Death Spiral’
Footnotes on Sequoia’s startup memo
TD Economics: Quarterly Economic Q&A
Sign in to read unlimited free articles