ข้อมูลและงานวิจัยหลายแห่งจากยุโรปและสหรัฐฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการไม่เกษียณอายุ (Unretirement) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยคน วัย (ควร) เกษียณ จำนวนมากกำลังหางานทำอีกครั้งด้วยเหตุผลจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวฉายภาพปัญหาและบริบทใหม่ของสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันที่กำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่ขยายกว้างขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและการกำหนดความหมายใหม่ ๆ ของการเกษียณอายุที่ไม่ใช่สถานะที่ถาวรอีกต่อไป
Chris Farrell ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นักข่าวสายเศรษฐกิจจากบลูมเบิร์ก นักเขียนหนังสือที่ว่าด้วยการไม่เกษียณอายุ Unretirement: How Baby Boomers are Changing the Way We Think About Work, Community, and the Good Life (2014) โดยเชื่อว่ามนุษย์ต้องการค้นพบความหมายของชีวิตในแง่มุมใดมุมหนึ่งและมีแรงบันดาลใจในการทำงานอยู่เสมอ เขาได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าสังคมกำลังเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง และเชื่อว่าวัยเบบี้บูมเมอร์มีสุขภาพที่ยืนยาวกว่าที่เคย กำลังค้นพบกับการขยายชีวิตด้านการทำงานของตน ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนอาชีพใหม่ การเป็นเจ้าของกิจการ การเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม ซึ่งรายได้ ประสบการณ์และการตกผลึกทางความคิดของกลุ่มนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในทศวรรษหน้า
อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องการไม่กษียณอายุไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น โดยจำนวนคนที่ทำงานเกินวัยเกษียณนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 โดยในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ "Unretirement" ได้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายสังคมทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา การค้นหาคำว่า "กลับไปทำงานหลังเกษียณ" บน Google เพิ่มขึ้น 200% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกาพนักงานราว 20% ที่ถือว่าอยู่ในวัยเกษียณยังคงอยู่ในระบบ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจากตัวเลขเดียวกันในปี 1985 และล่าสุดในปี 2017 ผู้ที่มีอายุ 65-69 ปี เลือกกลับมาทำงาน ถึง 32% มากกว่า 22% จากปี 1994 บางส่วนที่เลือกยืดอายุการเกษียณจนถึงกระทั่งถึงจุดที่บริษัทต้องตัดสินใจเลิกจ้างในที่สุด
ขณะเดียวกันในประเทศอังกฤษ จำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีที่ทำงานเต็มเวลาหรือนอกเวลาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมาเกือบครึ่งล้านคน แตะระดับสูงสุดที่ 497,946 ในไตรมาสแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้น 135% ตั้งแต่ปี 2009 มีอัตราการจ้างงานสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 1993 ถึง 2018 เช่นเดียวกัน โดยล่าสุด Office for National Statistics (ONS) สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณ การไม่ยอมเกษียณครั้งใหญ่ จากทำการสอบถามผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี จำนวน 12,000 คน ซึ่งพบว่าหนึ่งในสามของผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-64 ปี และ 1 ใน 10 ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเห็นตรงกันในเรื่องการกลับไปทำงาน แนวโน้มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากโพลล่าสุดของสมาชิกที่เกษียณอายุของ Rest Less แพลตฟอร์มดิจิทัลคอมมูนิตี้ยอดนิยมในอังกฤษสำหรับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ออกมาเปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกันว่า 32% ของสมาชิกในคอมมูนิตี้กำลังพิจารณากลับไปทำงานอีกครั้งและเกือบ 70% ของกล่าวว่าพวกเขา “เลือกไม่เกษียณ” ด้วยเหตุผลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดลดลงยิ่งทำให้ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี กลับมาทำงานหลังจากออกจากงานไปถึง 48%
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเรื่องเงิน เป็นเหตุผลหลักให้วัยเกษียณบางคนต้องกลับไปทำงาน ปัจจัยดังกล่าวสร้างความกังวลอย่างมีนัยสำคัญต่อการรับรู้เกี่ยวกับชีวิตและรายได้หลังเกษียณในอนาคต เพราะพวกเขาไม่สามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างแน่นอนอีกต่อไป
แผนการเกษียณอายุที่อดีตไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบหลายทศวรรษ ยากที่จะคาดการณ์และส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้คงที่ และยังเกี่ยวข้องกับราคาที่อยู่อาศัยและการลงทุนด้านอื่นที่ลดลง ส่งผลให้เงินออมที่มีอยู่เริ่มเป็นปัญหา เงินบำนาญไม่ครอบคลุมค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และถึงแม้ว่าบางรายจะวางแผนทางการเงินหลังเกษียณก็ไม่อาจต้านทานสถานการณ์ในช่วงนี้ได้
ตัวเลขกำลังซื้อที่ลดลงทุกเดือนสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่ำลงภายในประเทศเป็นประวัติการณ์ มากไปกว่านั้นในบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ตัวอย่างเช่น อังกฤษที่พึ่งประกาศระงับระบบบำนาญของรัฐเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบต้องหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ข้อมูลบางแห่งนำเสนอให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ Unretirement ยังเกี่ยวข้องกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในโควิด-19 ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เบาบางลง ตลาดแรงงานกลับมาแข่งขันกันอย่างเข้มข้น เพราะการฟื้นตัวของธุรกิจ ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ดึงดูดให้วัยเกษียณอายุจำนวนมากเห็นโอกาสในการกลับมาทำงานอีกครั้ง
ข้อมูลจาก Indeed Hiring Lab Economic Research ในสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2020 อัตรา ‘Unretirement Flow’ หรือวัยเกษียณอายุกลับมาทำงานอยู่ที่ 2.1% และค่อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2021 ถึง 3.2% ในเดือนมีนาคม 2022 แต่ถ้าหากพิจารณาแล้ว กราฟแสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งก่อนเกิดโรคระบาด กลุ่มคนในวัย(ควร) เกษียณจำนวนมากกลับสู่กระบวนการจ้างงานอีกครั้ง
"การเกษียณอายุอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของงานที่ได้รับค่าจ้าง และ เข้าสู่ช่วงเวลาพักผ่อนที่แท้จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผู้คนเกษียณอายุในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือแม้กระทั่งยังไม่ทันเกษียณก็กลับไปทำงานที่ได้รับค่าแรงหลังเกษียณอีกครั้ง และส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในห้าปีหลังเกษียณด้วยซ้ำ"
นอกจากนี้ ข้อถกเถียงที่ว่าผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักนั้นมีความน่าสนใจ เพราะถึงแม้ว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจะสร้างความยากลำบากสำหรับผู้ที่มีรายได้คงที่จริง แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งในช่วงนั้นอัตราเงินเฟ้อจะไม่ใกล้เคียงกับระดับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ตาม
ทำให้มีการนำเสนอถึงปัจจัยที่เกี่ยวกับมุมมองและทัศนคติส่วนบุคคล เช่น ความเบื่อหน่ายหรือความทะเยอทะยานในการแสวงหาเพื่อเติมเต็มชีวิต บางคนการกลับมาทำงานเพราะความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่บ้านและหงุดหงิดกับความรู้สึกแค่นั่งเฉยๆ หรือบางคนเคยชินกับการทำงานและยังคงมีความปรารถนาในหน้าที่การงาน "ทำงานเพื่อกระตุ้นจิตใจ" การมีงานทำสำหรับบางคนช่วยให้มีความกระฉับกระเฉงทั้งทางร่างกายและจิตใจ สร้างกิจกรรมที่มีความหมาย ทำให้รู้สึกเติมเต็ม รู้สึกชีวิตมีความหมายและสนุกสนาน
การวิจัยจาก RAND ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การเกษียณอายุเป็นแนวคิดที่ลื่นไหลและด้วยเหตุผลหลายประการ สังคมกำลังกำหนดความหมายของการเกษียณอายุใหม่ จากเดิมที่คนๆ หนึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย หางานทำ ไปทำงานและท้ายที่สุดก็เกษียณอายุ ซึ่งการตัดสินใจทำงานของวัยเกษียณนั้นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ผู้ที่ตัดสินใจทำงานต่อเพราะมีเหตุผลด้านการเงิน มักจะใช้เวลาทำงานมากกว่าเดิมและจะแสวงหาเวลาเพื่อทำงานต่อไปให้มากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะหรือยังสนุกกับสายงาน เงินเดือนและชั่วโมงการทำงานอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา เป็นต้น
หากใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Intern ที่นำแสดงโดย Anne Hathaway และ Robert De Niro นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวของ Ben Whittaker De Niro ที่เบื่อหน่ายชีวิตวัยเกษียณและตัดสินใจสมัครฝึกงานในบริษัทอีกครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอให้เห็นถึงแนวคิด Reverse Mentoring ของวัยเก๋าที่กลับไปทำงานและหลายมุมมองเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความคิดความรู้สึกของวัยเกษียณอายุ
นอกจากนี้ นวัตกรรมการสื่อสารและเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ Hybrid-Workplace แนวทางปฏิบัติในการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การทำงานง่ายสำหรับวัยเกษียณอายุมากขึ้น สร้างตัวเลือกที่มากขึ้นสำหรับบริบทของคนวัยนี้ การทำงานทางไกลที่ไม่สะดวกเดินทาง แม้แต่การทำงานนอกเวลาที่ไม่จำเป็นต้องทำงานเต็มเวลาหรือตลอดทั้งสัปดาห์ทำงาน
Retirement is just a phase that was invented, it’s not a natural progression or an essential stage of life – Michelle Silver
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หลายท่านอาจมีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว หลายคนอาจมองว่าการไม่เกษียณอายุเป็นเรื่องเชิงลบ เพราะวัยนี้ควรได้รับการพักผ่อนไม่ใช่กลับมาทำงานเลี้ยงชีพ ในส่วนของผู้เขียนเองมองว่าเหตุผลของ "การไม่ยอมเกษียณ" เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาแล้วแต่บุคคล ซึ่งปรากฏการณ์นี้ต้องพูดคุยกันลึกซึ้งไปถึงการเปลี่ยนแปลงของทางค่านิยมด้วย ปัจจุบันผู้คนให้ความหมายของความต้องการในบั้นปลายชีวิตที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หลายประเทศผู้สูงวัยถูกมองว่าเป็นภาระของวัยหนุ่มสาว เป็นภาระของภาครัฐที่ต้องดูแล ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขาบางส่วนถูกทิ้งค้างอยู่ในระบบ ซึ่งจากข้อมูลหลายฉบับทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าผู้สูงวัยเหล่านี้ต้องการได้รับค่าจ้างหรือได้ทำงานเล็กๆน้อยๆ หากเขามีลู่ทางและมีสุขภาพที่แข็งแรงเพียงพอ
ในระยะยาว 'Unretirement' อาจเข้ามาช่วยในการขยายตลาดงาน อาจเป็นแนวทางที่ลดความตึงเครียดภายในสังคมทั้งด้านการจัดสรรสวัสดิการ การเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาช่องว่างของตลาดแรงงาน ความกดดันจากความคาดหวังระหว่างช่วงวัย และอาจเป็นส่วนสำคัญที่สร้างประโยชน์สำหรับธุรกิจและสังคมในวงกว้าง เพราะองค์กรจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์และทักษะที่สั่งสมมาเป็นเวลานานแน่นอน ปัจจุบันจะเห็นว่าหลายประเทศ มีบริษัทที่และแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องดัวกล่าวและเปิดรับวัยเกษียณหรือผู้สูงวัยเข้าทำงานอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนการแสดงศักยภาพและเป็นโอกาสสร้างรายได้ของพวกเขา
นี่อาจเป็น "ประตูบานใหม่" ที่จะเปิดไปสู่พื้นที่ที่กว้างขึ้นสำหรับการแสดงออกถึงคุณค่าความสามารถในการสร้างงานสร้างรายได้ของผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หลังจากนี้ 5-10 ปี หลายประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้คนจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้สูงวัยปีต่อปี คำถามคือ กลุ่มวัยดังกล่าวที่ยังแข็งแรง มีศักยภาพสูงและยังคงต้องการโลดแล่นในสิ่งที่ตนเองทำ จะมีพื้นที่หรือมีนโยบายรองรับสนับสนุนพวกเขามากน้อยอย่างไร โดยที่ไม่เป็นการปิดกั้นการเจริญเติบโตในสายงานของเด็กรุ่นใหม่ๆ หรือจะต้องทำงานปริมาณเท่าไหร่ให้เหมาะสมกับกำลังและรายได้ จากเดิมที่การเกษียณอายุได้ปักหมุดการสิ้นสุดของผู้คนที่เข้าสู่วัย 50-65 ปี นี่อาจเป็น Paradigm ใหม่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันปูทางของถนนเส้นนี้ต่อไป
Reference
Britain’s ‘great unretirement’: cost of living drives older people back to work
Back to Work: Expectations and Realizations of Work after Retirement
‘Unretirement’ is becoming a hot new trend in the sizzling U.S. labor market
Goodbye Early Retirement, Hello Early Unretirement
Why these 'unretirees' went back to work
Everyone’s Talking About ‘Unretirement.’ It’s Overblown
Returns to work after retirement: a prospective study of unretirement in the United Kingdom
Labor force participation rates projected to decline over the next decade
Sign in to read unlimited free articles