12 เทรนด์ e-Commerce ไทยที่ต้องรู้ในปี 2566 และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ค้าออนไลน์ | Techsauce

12 เทรนด์ e-Commerce ไทยที่ต้องรู้ในปี 2566 และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ค้าออนไลน์

2-3 ปีที่ผ่านมา โควิดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะภาพรวมของ e-Commerce ประเทศไทย ที่เข้าสู่การขายของออนไลน์เต็มรูปแบบและทำให้การเข้าสู่โลกออนไลน์ของคนไทยเป็นไปได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ

คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในงาน Bok Teer - Beer talk : Special Edition หัวข้อ 'เจาะลึกเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทย 2023 ซูเปอร์เเอปเเละออนดีมานด์คอมเมิร์ซแข่งเดือด' ทั้งภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย แผนกลยุทธ์เเละข้อมูลตัวเลขของผู้ให้บริการรายหลัก แนวโน้มอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2023 บทวิเคราะห์พร้อมข้อมูลเจาะลึก ตลอดจนถอดรหัสสถานการณ์การแข่งขันแพลตฟอร์มดิลิเวอรี และข้อมูลการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลที่กำลังส่งผลกระทบกับธุรกิจดิจิทัลเเละเศรษฐกิจไทย โดยมัดรวมออกมาเป็นเทรนด์ e-Commerce ไทยที่คนไทยควรรู้อย่างยิ่ง

ป้อม ภาวุธ TARAD Dot Com e-Commerce คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ TARAD Dot Com Group Co., Ltd. เเละ Pay Solution Co., Ltd. ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกวงการ e-Commerce เเละผู้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีของไทย

Thailand e-Commerce Trend 2023

ซีอีโอป้อมแห่ง Pay Solutions บอกว่า เเนวโน้มของ e-Commerce ไทยในปี 2566 จะมีความเปลี่ยนเเปลงทั้งในด้านเเพลตฟอร์มการให้บริการ เทคโนโลยี รวมถึงโอกาสใหม่ๆ ซึ่งคนทำธุรกิจต้องเตรียมแผนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเอาไว้ โดยสรุปออกมาเป็นเทรนด์ 12 ข้อ ดังนี้

  • เทรนด์ที่ 1 มูลค่าการค้าออนไลน์ขยับขึ้นอีกครั้ง ตอบรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว มูลค่าการค้าออนไลน์ก็ดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง รวมถึงระบบนิเวศอื่นๆ ซึ่งถ้าดูจากรายงานมูลค่า e-Commerce ในช่วงปี 2563 โดย ETDA ตัวเลขนั้นลดลงประมาณ 6.68% สาเหตุหลักมาจากตัวเลขของ e-Commerce ประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว การเดินทาง สายการบิน และการผลิตต่างๆ เมื่อมีการเเพร่ระบาดของโควิดจึงส่งผลกระทบทำให้ภาพรวมของ e-Commerce ไทยมูลค่าลดลง 

ฉะนั้น การที่ไทยเริ่มเปิดประเทศก็ทำให้ตัวเลข e-Commerce เริ่มฟื้นตัวกลับมา คาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่า e-Commerce ของไทยน่าจะกลับเป็นบวกแบบเต็มที่ กอปรกับโมเมนตัมของธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เต็มรูปเเบบในช่วงหลังโควิด จึงส่งผลทำให้ตัวเลข e-Commerce ไทยโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

เมื่อพิจารณาข้อมูลของบริการ e-Commerce จะมีมุมมองได้หลากหลายมิติ ทั้ง Food Delivery, Online Grocery, Travel, On Demand Content นี่คือองค์ประกอบของบริการที่ผู้บริโภคนิยมจ่ายเงินให้กับบริการ e-Commerce ซึ่งไม่ใช่แค่สินค้าที่จับต้องได้ แต่มีเรื่องบริการ (Service) อยู่ด้วย

  • เทรนด์ที่ 2 สงคราม e-marketplace กำลังจะจบ

เหตุที่ต้้งข้อสังเกตว่า สงคราม e-marketplace กำลังจะจบลง เพราะ e-marketplace ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee เริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนโหมดตัวเอง จากที่เน้นการเติบโตทางธุรกิจ (Growth) โดยการใช้เงินลงทุนทำให้ตัวเองเติบโต ก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรอย่างชัดเจน 

ถ้าดู Lazada บริษัทสามารถทำกำไรได้แล้วในปี 2564 - 2565 จึงใช้เงินทำการตลาดน้อยลง โฟกัสที่การสร้างรายได้มากขึ้น เห็นได้ชัดเมื่อเริ่มมีการเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าบริการให้สูงขึ้น

หากมองภาพรวมธุรกิจ Lazada ไม่อาจมองแค่บริการ e-marketplace เพียงอย่างเดียว เเต่ต้องมองในฝั่ง Lazada Pay บริการด้านการชำระเงิน, Lazada Express บริการขนส่ง หรือบริการด้านดิจิทัลอื่นๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของกลุ่ม Lazada ในปี 2565 อยู่ที่ราว 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่ทำกำไรหลักๆ คือ Lazada Express หรือบริการขนส่งนั่นเอง

งบกำไร ขาดทุน Shopeeในด้านของ Shopee ตัวเลขยังมีการขาดทุนอยู่ เฉพาะในปี 2564 Shopee ขาดทุนประมาณ 4,900 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นขาดทุนสะสมติดต่อกันมา 7 ปี แต่เมื่อดูภาพรวมธุรกิจหลักของ Shopee จะมีธุรกิจ Shopee Express ซึ่งจากเดิมในปี 2563 มีการขาดทุนประมาณ 1,800 กว่าล้านบาท ตัวเลขการขาดทุนลดลงมาเหลือ 280 กว่าล้านบาท เมื่อมองภาพรวมธุรกิจของ Shopee การขาดทุนยังสูงอยู่ แต่รายได้ของทั้งกลุ่มมีมูลค่าเกือบ 43,000 ล้านบาทเลยทีเดียว 

เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว Shopee มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจ (Growth) มากกว่าการทำกำไร แต่เมื่อเราดูข้อมูล Shopee ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้างเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย อัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ Shopee มีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุน 

Shopee จึงเริ่มเน้นกลยุทธ์การทำกำไรมากขึ้น เริ่มจากการลดคน ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไรหรือเพิ่งดำเนินการ เพราะไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน จึงกลับมาโฟกัสที่การทำกำไรแทน

Shopee ก็ดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อเนื่อง โดยผู้บริหารจะไม่มีการรับเงินเดือนจนกว่าสถานการณ์ทางการเงินจะดีขึ้น ซึ่งนี่คือทิศทางที่ชัดเจนว่า Shopee กำลังจะเริ่มทำกำไรแล้ว เเละสิ่งที่เห็นได้ชัดอีกข้อ คือ งบประมาณในการทำการตลาดของ Shopee ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 11.11 ที่ผ่านมา

ส่วน JD Central ยังคงเป็นอันดับ 3 มีงบกำไรขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 1,200 กว่าล้านบาท แต่ก็เริ่มมีข่าวไม่เป็นทางการว่า กลุ่มเซ็นทรัลถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ประเทศไทย ก็จะมีการถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพราะมีการขาดทุนสูงราว 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

สิ่งที่เริ่มสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดคือ ช่วงมหกรรม 11.11 ที่ผ่านมา สถานการณ์ค่อนข้างซบเซา บรรดา e-marketplace ใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณให้เห็นว่าฝั่งของ e-marketplace ที่เคยเป็นสงครามของการใช้เงินมาถล่มกัน เริ่มลดการใช้เงินลงอย่างชัดเจน และที่สำคัญ e-marketplace ไทย กลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เรายังมี e-marketplace ของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ของเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในปี 2564 อยู่ที่ 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาท

  • เทรนด์ที่ 3 สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ

ผลต่อเนื่องจากเทรนด์ของ e-marketplace รายใหญ่ สินค้าจีนกำลังบุกไทยเต็มสูบหรือเต็มรูปแบบ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ด้วย Infrastructure ของจีนเชื่อมต่อเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทางรถ ทางราง ทางน้ำ ซึ่งเอื้อให้บริการส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยได้อย่างรวดเร็ว โดยบางรายใช้เวลาเพียง 2-5 วันก็ได้รับสินค้าเเล้ว บางรายมีบริการ Warehouse ให้ด้วย 

เนื่องจากผู้ผลิต/ผู้นำเข้าสินค้าจีนต่างยกขบวนมาตั้ง Warehouse ในประเทศไทย บริเวณรอบๆ พื้นที่กรุงเทพฯ และเริ่มใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางขายสินค้าจาก Warehouse ในไทยส่งตรงสู่ผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สินค้ามีราคาถูกลงมาก และหลังจากนี้ เราจะได้เห็นกองทัพสินค้าจากจีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ลิสต์ส่วนหนึ่งของสินค้าผิดกฎหมายที่นำเข้าจากจีน

สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมาย ขายในโลกออนไลน์โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหรือขออนุญาตตามมาตรฐานของไทย เช่น หลอดไฟฟ้า LED จากจีนที่ไม่มี มอก. อุปกรณ์การพนันต่างๆ ที่หาซื้อได้ใน e-marketplace หรือเครื่องสำอางที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่มี อย. 

สินค้าเหล่านี้ส่งตรงเข้ามาจากจีนโดยไม่ผ่านมาตรการภาษีต่างๆ ทำให้มีต้นทุนถูกลง ซึ่งเอื้อต่อการนำสินค้าเข้ามามากขึ้น และบางครั้งก็มีขั้นตอนพิเศษที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

แต่ในขณะที่ผู้ประกอบการไทย ต้องมีมาตรฐานการผลิตของโรงงาน การควบคุมคุณภาพให้ผ่านมาตรฐาน มอก.หรือ สคบ. มีการจ้างคนเเละขั้นตอนการผลิตต่างๆ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า เเละกลายเป็นความเสียเปรียบของคนไทย ในประเด็นนี้ ภาครัฐควรต้องควบคุมหรือตรวจสอบมากขึ้น และเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย ซีอีโอผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวง e-Commerce จึงเสนอแนวทางป้องกันไม่ให้สินค้าจีนเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย ดังภาพด้านล่าง

  • เทรนด์ที่ 4 On-Demand Commerce สงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัว!

On demand commerce เป็นการแข่งขันการค้าลักษณะ Platform จัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery จะต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริการที่มากกว่าอาหาร หรือที่เรียกว่า Beyond Food ปัจจุบันผู้ให้บริการหลายรายมีการแข่งขันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จากธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือการเรียกรถ ก็จะมีบริการอื่นเช่น Grab Mart, Grab Home เห็นได้ว่ามีการขยายฐานบริการ e-Commerce ซึ่งในปีหน้าเราคงได้เห็นกันมาก โดยเฉพาะ Grab

ในฝั่ง Lineman มีการควบรวมกิจการบริษัท กับ Wongnai กลายเป็น Lineman x Wongnai ล่าสุดระดมทุนได้ถึง 9,700 ล้านบาท มีการขยายบริการทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ในการทำสงครามครั้งนี้น่าสนใจมาก

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง e-Commerce และ On demand Commerce ให้เห็นชัดขึ้น ทั้งในด้านสินค้า, ความเร็วและความถี่ในการจัดส่ง, รูปแบบการจัดส่ง ราคา และพื้นที่ให้บริการ

อีกรายคือ Food Panda ซึ่งอยู่ในตลาดมานานเกือบสิบปี ปัจจุบันให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย และเริ่มมีบริการอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แต่หากวิเคราะห์สถานการณ์ของ Food Panda ยังมีความน่ากังวลแม้จะเปิดบริการก่อนเป็นรายแรกๆ ก็ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ในส่วนของผู้ถือหุ้น ติดลบราว 9,800 ล้านบาท ดังนั้น จึงน่าวิตกสำหรับ Food Panda ว่าสถานการณ์เเละตัวเลขแบบนี้จะระดมเงินทุนอย่างไร

และสุดท้าย Robinhood จากค่าย SCB ตั้งเเต่เริ่มเปิดให้บริการไม่มีการเก็บค่า GP ไม่มีค่าสมัครสมาชิก และมีบริการบางอย่างที่ดีกว่ารายอื่น ทำให้ร้านค้าหลายร้านหันมาขายผ่าน Robinhood เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน Robinhood ก็เริ่มมีการขยายธุรกิจ จากบริการจัดส่งอาหาร ก็เพิ่มบริการจองโรงแรม บริการซื้อของ และบริการใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาเร็วๆ นี้ โดยมี โมเดลการทำกำไรจากการขายโฆษณาและบริการอื่นๆ

On demand commerceตารางเปรียบเทียบรายได้ - กำไร (ขาดทุน) ในปี 2021 ของกลุ่มบริษัท On-Demand Commerce ในไทย ได้แก่ Grab Group, Food Panda Group, Lineman-Wongnai และ Robinhood จะเห็นว่า Grab ขาดทุนน้อยกว่ารายอื่น

"ไรเดอร์หลายๆ คนทำงาน Beyond Food แล้ว เช่น Grab ที่เริ่มจาก Grabfood บริการสั่งอาหาร ต่อมาสั่งซื้อของผ่าน GrabMart หรือร้านค้าได้ มีบริการสินเชื่อ บริการโรงแรม และยังมี Grab Home บริการส่งแม่บ้านไปทำความสะอาดบ้านได้ บอกได้เลยว่า ตอนนี้ธุรกิจ Grab เริ่มมีกำไรแล้ว หลังจากที่อยู่ในตลาดมานาน และแม้ Grabcar จะได้รับผลกระทบมากในช่วงโควิดแต่ก็เป็นแบรนด์ที่คนใช้บริการ ซึ่งผมเชื่อว่าปีหน้าจะสามารถทำกำไรได้ดีเลยทีเดียว" 

คุณป้อมอธิบายเพิ่มและชี้โอกาสสำหรับคนที่ค้าขายอยู่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซว่า ให้ไปเปิดร้านในแอป Food Delivery เพื่อเข้าสู่ตลาด On-Demand Commerce เพราะลูกค้าเข้าใช้งานได้วันละหลายครั้ง ไม่ต้องรอสินค้าข้ามวันเหมือนตอนซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง ร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงไรเดอร์หรือคนขับก็อาจจะถูกผลักดันให้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ยาวๆ ไป 

"ตอนนี้ Grab ปล่อยกู้ให้แก่ร้านค้า ร้านอาหาร ไรเดอร์ คนขับก็ต้องให้บริการภายใต้ Grab เพราะตัวเองรับเงินกู้จาก Grab คุณไปขับให้ยี่ห้ออื่น ออร์เดอร์คุณหาย พอออร์เดอร์หาย เครดิตคุณไม่ดี ดอกเบี้ยคุณสูงครับ  ฉะนั้น การปล่อยกู้จึงเป็นการผูกร้านค้า ร้านอาหาร กับไรเดอร์ ให้อยู่กับระบบ และรายได้จากการปล่อยเงินกู้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ"

  • เทรนด์ที่ 5 การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

DFS หรือ Digital Financial Services คือ บริการการเงินทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า Non bank เช่น ผู้ให้บริการรับชำระเงิน, ผุ้ให้บริการกู้เงินทางออนไลน์, ผู้ให้บริการประกันออนไลน์, ผู้ให้บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ ไปจนถึงการโอนเงินออนไลน์ หรือโอนเงินข้ามแดน 

แนวโน้มการใช้บริการ Digital Financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตมากขึ้น อีกทั้งจะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการหลายราย อย่าง Grab, Shopee, Food Panda หรือ Lazada เริ่มให้บริการทางการเงินแก่คู่ค้าของตัวเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน 

หรือจะเป็นบริการ B2B Payment เช่น PaySoon ก็เป็นอีกหนึ่งบริการที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้กับเจ้าของธุรกิจ ด้วยการดึงวงเงินจากบัตรเครดิตมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินหรือการชำระเงินก็ตาม

  • เทรนด์ที่ 6 สงคราม Short Video Commerce

สงครามของ Short Video Commerce กำลังดุเดือดมากในปัจจุบัน ทั้ง Tiktok, Youtube, Facebook เเละ Instagram ที่กระโดดลงมาเเข่งขัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการอย่าง Line ก็ลงมาเเข่งในสนาม Video เช่นกัน ดังนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ จะไม่ได้เน้นให้บริการเฉพาะ Short video เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีบริการอื่นของ e-Commerce ร่วมด้วย เช่น การเปิดร้านค้า 

  • เทรนด์ที่ 7 โฆษณาออนไลน์จะมีทางเลือกมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมา โฆษณาออนไลน์ที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของแบรนด์ คือ Facebook Ads แต่ตอนนี้ผู้โฆษณาหันไปทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น เพราะการโฆษณาผ่าน Facebook แล้วได้ผลลัพธ์ลดลง ขณะที่คู่แข่งอย่าง Tiktok พัฒนารูปแบบการโฆษณาจนได้ผลลัพธ์ที่ดี 

แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ แบรนด์เเละผู้โฆษณาเริ่มเปลี่ยนไปโฆษณาผ่าน Tiktok เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกค้าขายของได้มากกว่าเดิม

Facebook Ads

  • เทรนด์ที่ 8 การตลาดผ่านการบอกต่อ

Affiliate Marketing หรือ การตลาดผ่านการบอกต่อ กำลังเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต เพราะคนที่เป็น Influencer เริ่มมีฐานลูกค้าเป็นของตัวเองมากขึ้นผ่าน Social Media เครื่องมือที่ทำให้เรามีความสามารถบอกต่อสินค้าไปยังกลุ่มเพื่อนๆ ได้ และเราเองยังสามารถได้ส่วนเเบ่งกำไรจากการที่สินค้าเหล่านั้นมีการขายได้เมื่อเพื่อนๆ กดสั่งซื้อ 

โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Tiktok ที่เริ่มผลักดันบริการ Affliate Marketing ซึ่งใช้การบอกต่อมากขึ้น รวมถึง Shopee และ Lazada เอง ก็เริ่มให้บริการนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมี pundai.com ผู้ให้บริการ Affliate Marketing ที่เป็นของไทยเอง

pundai platform

  • เทรนด์ที่ 9 “MarErce” เมื่อ MarTech ผสานเข้ากับ e-Commerce

มาร์เอิร์ซ (Mar-Erce) คือ รูปเเบบการทำธุรกิจดิจิทัลที่อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ผสานเข้ากับมาร์เทค (MarTech) เราจะเรียกว่า มาร์เอิร์ซ จากเมื่อก่อนคนทำการตลาด (Marketing) จะเน้นเรื่องการตลาด และคนค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) ก็เน้นเรื่องการขาย แต่หลังจากนี้จะไม่ใช้วิธีการเเบบเดิมอีกต่อไป 

เนื่องจาก Marketing กับ e-Commerce ถูกผสานรวมเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ตอนนี้ผู้ให้บริการด้านมาร์เทค (MarTech) เริ่มมีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การทำการตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เกิดออร์เดอร์ เกิดการซื้อขาย เเละเมื่อเกิดการขายแล้ว ทางฝั่งมาร์เทค (MarTech) จะเริ่มนำเทคโนโลยีย้อนกลับไปทำ CRM หรือ Retention เพื่อทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำในครั้งต่อไปอีกที 

มาร์เอิร์ซ (MarErce) จะเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจที่ การตลาด (Marketing) กับ การค้าขายออนไลน์ (e-Commerce) จะถูกผสานรวมเข้าด้วยกัน

  • เทรนด์ที่ 10 การแข่งขัน e-Commerce ในแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่

แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จะเริ่มแข่งขัน e-Commerce อย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Tiktok ทุกรายเริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับเเละส่งเสริม e-Commerce มากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการป้องกันไม่ให้ลูกค้ากระโดดข้ามไปใช้บริการของคู่แข่ง เช่น Facebook : Facebook Shop, Facebook Live, Facebook Marketplace, Facebook Messenger, Line : Line Chat, Line OA, Line Shop, Line Pay ฝั่ง Tiktok : Tiktok Video, Tiktok Ads, Tiktok Shop ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้เกิด e-Commerce บนแพลตฟอร์มใหญ่เพิ่มมากขึ้น

  • เทรนด์ที่ 11 การขาดดุลดิจิทัลของประเทศไทย

กรมสรรพากรออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 จากข้อมูลล่าสุด มีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเเล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค. 2564 – มี.ค. 2565) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท 

มีการคาดการณ์ว่า กรมสรรพากรอาจเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มต่างชาติได้เกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจสูงเกือบๆ 2 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการส่งออกข้าวในปี 2564 รวมถึงสูงกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 

นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามาสอดส่อง ว่าประเทศไทยเรามีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร มากเพียงใด และควรนำตัวเลขนี้ไปคำนวณเพื่อประกอบการวิเคราะห์เรื่องการขาดดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

ภาษี แพลตฟอร์มต่างชาติรายละเอียดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มต่างชาติในช่วง 6 เดือน (ต.ค. 2564 - มี.ค. 2565)

  • เทรนด์ที่ 12 D2C (Direct to Consumer) จะฆ่าตัวกลางทางการค้า

เทรนด์สุดท้าย D2C หรือ การขายตรงไปยังผู้บริโภค ซึ่งเป็นการตัดตัวกลางออกไปจากห่วงโซ่ ข้อนี้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิตต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อโรงงานเริ่มขายสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น เพราะคนรุ่นใหม่ซื้อสินค้าจากร้านในท้องถิ่นน้อยลง หันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น ในแง่ของธุรกิจท้องถิ่นที่มีตัวกลางอาจหมดโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าเพราะพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

 คุณป้อมอธิบายรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงจาก Manufacturer > Wholesaler >  Retailer > Customer เป็น Manufacturer > D2C Online Channel ส่งผลกระทบต่อ 'ตัวกลางทางการค้า' โดยตรง

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...

Responsive image

ปรับองค์กรสู่ Digital Future เริ่มที่ ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ ฟัง NTT DATA ผู้เชี่ยวชาญ Digital Transformation

บทความนี้ Techsauce จะพาไปหาคำตอบว่า…ทำไมทรัพยากรคนถึงมีผลต่อ Digital Transformation และองค์กรควรรับมืออย่างไร?...