การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก โดยผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะหน้ากากอนามัย ขยะติดเชื้อ รวมถึงขยะพลาสติกจากการให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่
ในขณะที่ผลกระทบเชิงบวกช่วงที่มีการล็อคดาวน์และจำกัดการเดินทางทั้งของประชาชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ได้แก่ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล ปะการัง ฯลฯ ได้รับการฟื้นฟู บทความนี้จะให้ความสำคัญกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อทรัพยากรธรรมชาติทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว รวมถึงให้ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย โดยพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยระหว่างช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนลดลงจาก 13.99 ล้านคนในปี 2562 เหลือ 6.69 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 หรือลดลงประมาณ 52.17% (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) โดยการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ มาตรการจำกัดการเดินทาง ทั้งการเดินทางข้ามประเทศและการเดินทางระหว่างจังหวัด มาตรการปิดแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ สำหรับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในสังกัดของกระทรวงฯ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติกว่า 148 แห่งทั่วประเทศ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 48 แห่ง โดยวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อลดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่คนจะมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19
เมื่อพื้นที่อุทยาน ป่า ภูเขา ทะเล หรือเกาะปราศจากนักท่องเที่ยว ธรรมชาติมีโอกาสได้รับการฟื้นฟู ตัวอย่างเช่น การปิดอุทยานแห่งชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ มีการพบเห็นสัตว์ป่า เช่น หมีดำ กวาง แมวบอบแคต และหมาป่าไคโยตี้ บ่อยครั้งขึ้น สำหรับประเทศอินเดีย พบว่ามีเต่าทะเลสายพันธุ์ Olive Ridley ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List นับแสนตัวขึ้นมาวางไข่บนหาด Gahirmatha และหาด Rushikulya ซึ่งอยู่ในรัฐโอริศา ในช่วงที่ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมามีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บริเวณดังกล่าวค่อนข้างน้อย เพราะมีเรือประมง เรือนำเที่ยวและนักท่องเที่ยวเข้าออกบริเวณดังกล่าวอย่างหนาแน่น ซึ่งรบกวนเส้นทางหากินของเต่าทะเลชนิดนี้
หลังจากที่มีการปิดอุทยานแห่งชาติและไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมพื้นที่ในเขตอุทยานฯ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่าทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศได้รับการฟื้นตัว เช่น ในอุทยาน
ภูซาง จังหวัดพะเยา พบว่าพืชพันธุ์ไม้หายากกลับมาเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าต่างๆ เช่น หมูป่า กระรอกบิน ผีเสื้อชนิดต่างๆ นกนานาชนิดที่ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็น สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง นอกจากนี้ ทรัพยากรทางทะเลในหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีโอกาสฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยในระยะสั้น โดยเฉพาะปะการังและหญ้าทะเล
สาเหตุหนึ่งที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทรัพยากรทางทะเลเหล่านี้ฟื้นตัวคือการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชุมชนและโรงแรมที่พักตลอดแนวชายฝั่งลดลงส่งผลให้คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้น ทำให้ปะการังและหญ้าทะเลฟื้นตัวและเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ คุณภาพน้ำทะเลที่ดีขึ้นและการลดการรบกวนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวลดลง อย่างไรก็ดี ปะการังบางชนิดอาจจะใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว แต่ในช่วงที่มีการระงับการท่องเที่ยว ปะการังเหล่านี้ก็จะมีการก่อตัวและงอกใหม่ สำหรับสัตว์ทะเล เช่น เต่ามะเฟือง พะยูน ปลาโลมาอิรวดี และปลาฉลามหูดำ มีคนพบเห็นสัตว์ทะเลเหล่านี้บ่อยครั้งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีการปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเล 23 แห่ง สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์โควิด-19
หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ในกรณีของประเทศเวียดนาม หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามคลายล็อกข้อจำกัดการเดินทางภายในประเทศ มีชาวเวียดนามจำนวนมากแห่ไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยเฉพาะสถานที่ที่มีทัศนียภาพที่งดงาม เช่น อ่าวฮาลอง เป็นต้น สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่อุทยานแห่งชาติบางแห่งเริ่มเปิดทำการ เช่น Everglades National Park ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดาและเปิดทำการในวันที่ 4 พฤษภาคม ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลว่าการเปิดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เสียงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวอาจรบกวนสัตว์ป่า นอกจากนี้ สัตว์ป่าที่เคยออกมาหาอาหารกินบริเวณถนนช่วงที่อุทยานฯ ปิด อาจเสี่ยงต่อการถูกรถยนต์ของนักท่องเที่ยวชนจนได้รับบาดเจ็บอีกด้วย
สำหรับผลกระทบระยะยาว ประเด็นสำคัญที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ประเด็นเรื่องการส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว (Overtourism) ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติ (Habitat Destruction) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) ฯลฯ
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สิ่งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการเพื่อวางแผนระยะยาวในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมี 4 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรเดินหน้าดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนทั้งประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวมีความรู้ ความตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล ทรัพยากรทางทะเล ฯลฯ โดยอาจร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการสอดแทรกประเด็นเหล่านี้ไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักให้กับนักท่องเที่ยว
สำหรับเรื่องที่สอง การดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหา Overtourism ในระยะยาว เช่น การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในช่วงเวลาต่างๆ โดยในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการนำแอพพลิเคชันมาใช้ในการแจ้งเตือนเมื่อมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถปรับเปลี่ยนแผนเพื่อมาเยือนแหล่งท่องเที่ยวในช่วงเวลาอื่น หรือมาตรการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อให้ธรรมชาติบริเวณแหล่งท่องเที่ยวได้รับการฟื้นฟู ซึ่งแนวทางนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการดำเนินการในบางพื้นที่อยู่แล้ว แต่ควรมีการพิจารณาต่อยอดหรือขยายผลไปยังแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
สำหรับเรื่องที่สาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีขุมทรัพย์ด้านการท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากแต่ละภูมิภาคของประเทศมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งภูเขา ทะเล ฯลฯ ดังนั้น ประเทศไทยควรพลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนและยกเครื่องกลยุทธ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยปรับเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวแบบที่เน้นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality Tourism) เช่น การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและเกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
เรื่องสุดท้าย ควรมีการส่งเสริมการนำแนวคิด “Building Back Better” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้ในการจัดการภัยพิบัติมาใช้ โดยหลักการภายใต้แนวคิดดังกล่าวคือการบริหารจัดการเพื่อให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลงดีกว่าช่วงที่เกิดโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศมีความยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับ Shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19” ท่านสามารถ อ่านบทความ TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 ทั้งหมด ได้ที่ https://tdri.or.th/issue/covid-19/
Sign in to read unlimited free articles