โอกาสและความท้าทายใน SAF เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนที่ธุรกิจการบินและพลังงานต้องจับตา | Techsauce

โอกาสและความท้าทายใน SAF เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนที่ธุรกิจการบินและพลังงานต้องจับตา

ในปัจจุบันคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินคือความนิยมอย่างหนึ่งสำหรับนักเดินทางทั่วโลก เพราะไม่ว่าใครๆก็สามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินได้ ด้วยการแข่งขันของธุรกิจสายการบิน ที่สามารถทำให้ผู้โดยสารมีตัวเลือกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเดินทางด้วยสายการบิน Low-Cost หรือ Full Service ก็ตาม 

ทำให้ภาคอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็วเสียจน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเหตุผลหลักของอุตสาหกรรมการบินก็คือ ไอเสียของเครื่องบิน (Aircraft Engine Emissions) ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกมา ส่งผลกระทบต่อ Climate Change โดยตรง ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มหันมาหาทางลดคาร์บอนจากการบินมากขึ้น 

โดยบทความนี้ Techsauce ได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล มาเพื่อให้เห็นภาพกว้างของธุรกิจการบินที่ต้องการจะยั่งยืนรวมถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมพลังงานด้วยเช่นกัน ในภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รู้จักกฎหมายจำกัดคาร์บอนของการเดินอากาศยาน ‘CORSIA’

เนื่องด้วยธุรกิจการบินมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก จึงทำให้เกิดกฎการบิน ที่จะช่วยในการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เรียกว่า ‘CORSIA’ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ที่เริ่มขึ้นในปี 2016 จาก ‘ICAO’ (The International Civil Aviation Organization) ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ธุรกิจการบินประสบความสำเร็จในการลดและชดเชยการปล่อยพลังงาน ตลอดจนการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ การตรวจสอบการปล่อยพลังงานภายใต้ CORSIA คือข้อบังคับสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการบินสากลที่เป็นสมาชิกของ ICAO ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย ทำให้ CAAT (The Civil Aviation Authority of Thailand) ต้องใช้กลไกการชดเชยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเริ่มส่งข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผู้ดำเนินการเดินอากาศ ให้แก่ ICAO เช่นกัน

กรอบแนวคิดและความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยแนวทางในการพัฒนาของสหประชาชาติอย่าง SDGs ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนก็มีแนวทางในการพัฒนาด้านความยั่งยืนด้วยหมุดหมายที่จะขจัดความเลื่อมล้ำ ความยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง การพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ได้เข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาคธุรกิจการบินก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงทำให้ต้องเริ่มมองหาแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจบนความยั่งยืน ตามกระแสของโลกอย่างแนวทางของ ESG ที่ประกอบไปด้วย Environment, Social และ Governance ที่เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำความเข้าใจ ESG และ SDGs กับความสำคัญต่อธุรกิจ

AirAsia นำร่องความยั่งยืน ประกาศกลยุทธ์ส่งเสริมธุรกิจการบิน

นับว่าเป็นอีกหนึ่งสายการบินที่ดำเนินธุรกิจบนหลักของความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องที่วันนี้พร้อมแล้วที่จะเทคออฟอีกครั้งกับการตั้งเป้าหมายความยั่งยืนภายใต้กรอบแนวคิด ESG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมที่ทาง AirAsia ตั้งเป้า Net-Zero emissions ภายในปี 2050 ซึ่งล่าสุด AirAsia ได้จัดงาน Sustainability Day  เพื่อประกาศกลยุทธ์ในการตั้งเป้าหมายที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 อย่างการเปลี่ยนมาใช้เครื่องบิน Airbus321 neo ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับโลกมากขึ้นภายในปี 2035 และแทนที่เชื้อเพลิงการบินแบบปกติด้วยการใช้ SAF (Sustainable Aviation Fuel) ที่จะริเริ่มเป็นสายการบินแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะดำเนินการใช้เชื้อเพลิงอย่าง SAF เพราะตอนนี้ยังไม่มีสายการบินใดที่ทำการบินพาณิชย์ด้วยเชื้อเพลิง SAF ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง :  AirAsia จัดงาน Sustainability Day ประกาศยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ตั้งเป้าคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี 2050

รู้จัก SAF และแนวทางการปรับใช้ของสายการบิน

SAF เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำรุ่นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานที่ใช้ฟอสซิลในปัจจุบัน ผลิตจากขยะหมุนเวียน 100% และวัตถุดิบที่เหลือ เช่น ไขมันสัตว์ที่ใช้แล้วและน้ำมันปรุงอาหารจากร้านอาหาร หรือ ทรัพยากรชีวภาพ (ฺBiological Resources) ซึ่งใช้แล้วไม่หมดไปเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเรียกอีกอย่างว่าเชื้อเพลิงการบินชีวภาพ (bio-jet fuels) การใช้ SAF สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงการบินดั้งเดิม โดยสายการบินรายใหญ่หลายเจ้าได้วางแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้ SAF แล้ว เช่นสายการบิน Lufthansa ที่มีบริการให้ผู้โดยสารเลือกฟังก์ชัน SAF เมื่อจองเที่ยวบิน สายการบินจะคำนวณค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ต้องจ่ายเพื่ออัปเกรดจากเชื้อเพลิงเครื่องบินฟอสซิลเป็น SAF โดยลูกค้าที่จ่ายจะจ่ายส่วนต่างระหว่างเชื้อเพลิงปกติและ SAF โดย Lufthansa จะส่งต่อการบริจาคให้กับ LHG ซึ่งเป็นหุ้นส่วน และ SAF ที่ซื้อไปจะถูกหมุนเวียนภายในหกเดือน

โอกาสของบริษัทพลังงานภาคเอกชนในไทย เริ่มลงทุนใน SAF 

เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย บริษัทพลังงานภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจแล้วว่า สายการบินจะต้องหันมาตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างแน่นอน จึงเป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทพลังงานเริ่มดำเนินงานในการวิจัย และพัฒนา SAF เพื่อตอบสนองความต้องการของการสายการบินที่ตั้งเป้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050 แล้วบริษัทพลังงานในประเทศไทยมีเจ้าไหนบ้างที่เริ่มหันมาสนใจใน SAF เช่น BBGI ประกาศร่วมลงทุนใน BSGF มูลค่า 200 ล้านบาท เตรียมก่อสร้างหน่วยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยาน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) จากน้ำมันพืชใช้แล้ว รองรับความต้องการของตลาดที่ให้ความสนใจเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับโลกอย่าง International Sustainability & Carbon Certification (ISCC) ตามข้อกำหนดด้านพลังงานทดแทนของสหภาพยุโรป ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประเภทไบโอดีเซลอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการมีเทคโนโลยีที่สามารถปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน

นอกจากนี้รายงานโดย cCarbon กลุ่มวิเคราะห์ความยั่งยืนในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าการผลิตเชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 30 เท่าภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 538 ล้านลิตรในปี 2022 เป็น 18.2 พันล้านลิตรในปี 2030 ซึ่งเป็นการเติบโตแบบทบต้นต่อปี ในอัตรา 55.3% และประเมินว่ามูลค่าตลาดของ SAF จะสูงถึง 29.7 พันล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้นจาก 1.1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว 

รายงานประเมินว่าในปี 2022 60% ของการผลิต SAF ทั่วโลกอยู่ในยุโรป ตามด้วยอเมริกาเหนือที่ 33% และเอเชียแปซิฟิกที่ 7% โดยทั้งภูมิภาคอเมริกาใต้และตะวันออกกลางไม่มีการผลิต SAF แต่ภายในปี 2030 ในตลาดที่ใหญ่กว่ามาก cCarbon คำนวณว่าอเมริกาเหนือจะผลิต SAF 36% ของโลก ตามด้วยยุโรป 32% เอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคการขนส่งทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุด จะพุ่งขึ้นเป็น 17% ของการผลิต SAF ทั่วโลก และอเมริกาใต้เป็น 12% ในขณะที่ตลาดตะวันออกกลางที่อุดมด้วยน้ำมันคาดว่าจะผลิตเพียง 3% เท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : BBGI ประกาศร่วมลงทุนใน BSGF มูลค่า 200 ลบ. ปูทางเตรียมขึ้นโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

แนวโน้มและความคาดหวังต่อความยั่งยืนในอนาคต

SAF อาจจะทำให้ต้นทุนการเดินทางนั้นแพงขึ้นได้ เพราะต้นทุนการผลิตที่แพงกว่าเชื้อเพลิงปกติ 3-5 เท่า ซึ่งตอนนี้ความต้องการของ SAF ในตลาดอาจจะยังไม่มากและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต อีกทั้งตราบใดที่โรงงานผลิต ผลิตได้ปริมาณน้อย ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการได้เช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงการแก้ปัญหานั้นคือการมุ่งเน้นไปที่ศักยภาพในระยะยาวและเพิ่มความต้องการเพื่อให้สามารถขยายการดำเนินงานของโรงกลั่นได้ ยิ่งผลิตได้มาก SAF ก็ยิ่งถูกลง ซึ่งในหลายประเทศภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่มก่อน อาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาตั๋วเครื่องบิน ที่เหมือนเป็นการผลักภาระไปยังภาคประชาชน

ในขณะที่เราเพิ่งเริ่มต้นการเดินทางของ SAF ดูเหมือนว่าหากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วโลก SAF จะสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมในลักษณะที่การชดเชยคาร์บอนได้ แต่ก็อาจจะต้องตั้งคำถามถึงฟากรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารว่าจะเล็งเห็นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกๆ อุตสาหกรรมหรือไม่ จะสามารถผลักดัน SAF ให้เกิดขึ้นได้จริงเพื่อสนับสนุนธุรกิจการบิน ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ‘การท่องเที่ยว’ ในประเทศไทยได้หรือไม่


อ้างอิง

Bureau VeritasForbesGreen Air NewsCapital A Sustainability Report 2022


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ปัญหาสภาพอากาศภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง AI จะช่วยโลกได้อย่างไร?

ผลกระทบมากกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราผลิตและใช้พลังงานและ AI มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปล...

Responsive image

อินเดียเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ทำไมคนในชาติยังอดอยาก?

อินเดียเลี้ยงปากท้องคนทั้งโลกได้และกำลังจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ กลับติดอันดับต้น ๆ ประเทศที่ประชากรหิวโหยและขาดแคลนอาหารมากที่สุดในโลก เป็นเพราะอะไรกัน ?...

Responsive image

Google พัฒนา MethaneSAT ดาวเทียมวัดปริมาณก๊าซพิษและติดตามตำแหน่ง

Google ได้ร่วมมือกับ Environmental Defense Fund (EDF) พัฒนา MethaneSAT ดาวเทียมติดตามการปล่อยก๊าซมีเทนจากนอกโลก...