Stripe นำเสนอบริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยมาตรฐานระดับโลกเพื่อมอบทางออกด้านการชำระเงินที่ซับซ้อนให้ธุรกิจไทยทุกขนาด โดยช่วยลดเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการประมวลผลการชําระเงินเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถมุ่งพัฒนาธุรกิจหลักของตนได้เต็มที่เมื่อขยายสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ธุรกิจไทยที่ใช้บริการของ Stripe สามารถรับการชำระเงินผ่าน พร้อมเพย์ และเครือข่ายบัตรเครดิตรายใหญ่เช่นวีซ่า และ มาสเตอร์ การ์ด
คุณธีร์ ฉายากุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท Stripe ประเทศไทยกล่าวว่า “ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่โตเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปิดรับอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีการชำระเงินทางดิจิทัลได้ช่วยให้หลายธุรกิจฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ได้ และเป็นพื้นฐานขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็ยังมีความยุ่งยากและขาดประสิทธิภาพ Stripe ต้องการกำจัดอุปสรรคนี้โดยการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อช่วยให้ธุรกิจที่มีความมุ่งมั่น เพิ่มรายได้ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น และได้ใช้ระบบอัตโนมัติกับงานที่สร้างมูลค่าต่ำของธุรกิจ พร้อมช่วยในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลกโดยการบริหารจัดการที่สะดวกสบายผ่านแดชบอร์ดเดียวของ Stripe”
ทุกธุรกิจในประเทศไทยสามารถใช้งานโซลูชันที่มีประสิทธิภาพนี้ของ Stripe เช่น ระบบ Billing ที่ครอบคลุมการออกใบเสร็จเรียกเก็บค่าสินค้าและบริการ และการชำระเงินตามรอบ ระบบ Checkout สำหรับหน้าการชำระเงินแบบสำเร็จรูป และ ระบบ Payment Links สำหรับการออกลิงก์เพื่อชำระเงินสำหรับอีคอมเมิร์ซ ระบบ Invoicing สำหรับการออกใบแจ้งหนี้เพื่อการเรียกเก็บเงินอัตโนมัติ และการกระทบยอดธุรกรรมแบบอัตโนมัติ ระบบ Radar สำหรับตรวจจับและป้องกันการทุจริต ระบบ Connect สำหรับแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ และมาร์เก็ตเพลส และอื่นๆ
คุณสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเปิดตัวของ Stripe ในประเทศไทยว่า “ธปท. สนับสนุนให้มีบริการด้านการชำระเงินดิจิทัลที่หลากหลาย มีความสะดวก ปลอดภัย และตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการด้านการชำระเงินได้อย่างทั่วถึง การที่ Stripe เข้ามาเปิดบริการในประเทศไทย จะช่วยพัฒนานวัตกรรมและการเข้าถึงบริการชำระเงินของประชาชนและธุรกิจได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น”
ธุรกิจหลายพันแห่งในประเทศไทยได้สมัครใช้บริการของ Stripe เช่น แพลตฟอร์มตลาดอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ Baania แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับหรู Chanintr โครงการรีสอร์ทพักตากอากาศ Coconut Beach Bungalows แพลตฟอร์มโปรแกรมบัญชี FlowAccount และแพลตฟอร์มออกแบบคาแรคเตอร์ Storior โดยที่ Stripe ได้ร่วมงานกับผู้ใช้บริการเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นของธุรกิจในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาในระบบเบต้า เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของลูกค้าและพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ที่ธุรกิจไทยต้องการ
คุณอภิพร สิมะพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี Baania กล่าวว่า “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Baania ได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นผู้ให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีและข้อมูลสำหรับอสังหาริมทรัพย์ ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าเราจะเป็นแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์เจ้าแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรายังต้องการที่จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ต่อไป ซึ่ง Stripe ทำให้เราสามารถพัฒนาและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเป็นหลัก ด้วยระบบการชำระเงินที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นเราจึงรู้สึกตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Stripe เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และพร้อมสนับสนุนบริการชำระแบบใหม่ๆทั่วภูมิภาคนี้ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อแผนขยายธุรกิจและการเข้าถึงลูกค้าของ Baania ในอนาคตเช่นกัน”
คุณกฤษฎา ชุตินธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง FlowAccount กล่าวว่า “FlowAccount เริ่มต้นธุรกิจด้วยเป้าหมายที่จะช่วยเจ้าของธุรกิจรายย่อยให้สามารถบริหารใบแจ้งหนี้ บัญชี และเงินเดือน ด้วยระบบดิจิทัล ในฐานะที่เราเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เราจึงเห็นประโยชน์จากความสะดวกสบายที่เกิดจากการเชื่อมต่อระบบกับโซลูชันการชำระเงินของ Stripe เพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมธุรกรรมการรับชำระเงิน เรารู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพของ Stripe Connect และยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Stripe เพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยบริหารจัดการงานบัญชีและสามารถรับชำระเงินออนไลน์ได้ง่ายๆ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจได้มีเวลาทุ่มเทให้กับการดำเนินงานหลักที่สำคัญที่สุดของธุรกิจได้อย่างเต็มที่”
การเปิดตัวในประเทศไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการให้บริการและการขยายธุรกิจของ Stripe ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งบริการของ Stripe ครอบคลุมถึงออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยปัจจุบัน Stripe ให้บริการใน 50 ประเทศทั่วโลก ธุรกิจหลายล้านรายทั่วโลก ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงแบรนด์ระดับโลกอย่าง Amazon, Ford และ Shopify — ต่างให้ความไว้วางใจในบริการระดับโลกของ Stripe ให้ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ และชุดเทคโนโลยีที่ครอบคลุมซึ่งช่วยสนับสนุนโมเดลธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา (dynamic business model)
● เอื้อให้ธุรกิจให้เดินหน้าและเติบโตในระดับโลกตั้งแต่แรกเริ่ม Stripe ช่วยให้ธุรกิจรับชำระเงินจากลูกค้านานาชาติมากกว่า 135 สกุลเงิน และนำเสนอ API ที่เป็นหนึ่งเดียวสำหรับการใช้งานกับ พร้อมเพย์ บัตรเครดิต และอื่นๆ สามารถติดตั้งระบบที่ง่ายดายและพร้อมให้ผู้ค้าใช้งานได้ภายในไม่กี่นาที
● นำเสนอบริการครบวงจรให้ธุรกิจออนไลน์ตั้งแต่เปิดตัว ทำธุรกิจ และเติบโต นอกเหนือไปจากการรับชำระเงินแล้ว ธุรกิจสามารถใช้ Stripe กับการสร้างโมเดลธุรกิจเช่นมาร์เก็ตเพลส การระดมทุน Crowdfunding และการชำระเงินตามรอบบิล ตลอดจนบริหารบัญชีและประสบการณ์ของลูกค้าต่อการซื้อสินค้าและบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่านแดชบอร์ดหนึ่งเดียว นอกเหนือจากนี้ Stripe สามารถเชื่อมโยงกับปลั๊กอินจากผู้ให้บริการอื่นอีกหลายร้อยราย ที่เพิ่มความสามารถบริการตั้งแต่การจัดการใบแจ้งหนี้ ไปจนถึงการจัดการอีเมลเพื่อการตลาด และการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
● ป้องกันการทุจริต Stripe Radar ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจจับและป้องกันการทุจริตใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมและแมชชีนเลิร์นนิงที่ทันสมัยเพื่อปกป้องธุรกิจจากการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมือนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งกับธุรกิจที่มีการดำเนินกิจการในตลาดทั่วโลก เนื่องจากรูปแบบและความเสี่ยงของการทุจริตในแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างมาก
● ช่วยให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โซลูชัน SaaS (SaaS solutions) ของ Stripe ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สร้างระบบหลังบ้านที่ทันสมัย ปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน และช่วยให้ทีมงานมีเวลาสำหรับงานอื่นที่เร่งด่วน
● เชื่อมโยงแพลตฟอร์มชำระเงิน Stripe Connect มอบบริการที่รวยเร็วและง่ายดายที่สุดในการเชื่อมโยงการชำระเงินกับแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์และมาร์เก็ตเพลสใดก็ตาม API ที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ และเครื่องมือของ Stripe ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างและพัมนาระบบซื้อขายและชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ทั้งในระดับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นจนถึงการชำระเงินในตลาดโลก โดยที่ Stripe รวบรวมข้อมูลธนาคารและการยืนยันตัวตนเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด KYC
Sign in to read unlimited free articles