คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะอนุกรรมการฯ) ซึ่งมี รศ.สุดา วิศรุตพิชญ์
เป็นประธาน ได้มีการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย TDRI และศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เข้าร่วมการประชุม ได้เข้าร่วมการประชุม
รศ.สุดาฯ กล่าวว่า การประกอบธุรกิจ Startup ในประเทศไทยประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยประการหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของกฎหมายไทยที่ยังไม่รองรับแนวทางการประกอบธุรกิจในรูปแบบของ Startup ซึ่งต้องใช้แนวคิดและเครื่องมือการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อระดมทุนและแข่งขันในระดับนานาชาติ นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือหากมีความจำเป็นให้จัดทำร่างกฎหมายใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขี้นกับ Startup ไทย และศึกษาถึงแนวทางแก้ไขที่น่าสนใจของต่างประเทศที่อาจนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ เช่น แนวทางของประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอิตาลี เป็นต้น โดยได้เสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคของธุรกิจ Startup ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ
1. ให้เน้นการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจและ
การระดมทุนก่อน แล้วจึงขยายไปสู่การปรับปรุงกฎหมายในประเด็นอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ Startup ต่อไป
2. ร่างกฎหมายที่จะเสนอจะต้องไม่สร้างคณะกรรมการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่
เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจ Startup แต่ต้องเน้นการขจัดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจให้มากที่สุด เช่น อาจยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคให้กับธุรกิจ Startup ที่ควรได้รับการส่งเสริม
3. ควรกำหนดลักษณะหรือนิยามของธุรกิจ Startup ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายให้กว้างขวาง และอาจนำระบบการขึ้นทะเบียนอย่างง่ายหรือการให้ธุรกิจ Startup รับรองตนเอง ที่มีการใช้ในต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือการขอรับการส่งเสริมของผู้ประกอบการ
1. ลักษณะของธุรกิจ Startup ที่ควรได้รับการส่งเสริม และกระบวนการ
ที่เหมาะสมในการขึ้นทะเบียนหรือรับรองตนเองของผู้ประกอบธุรกิจ Startup
2. การยกเว้นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้ง การระดมทุน การประกอบธุรกิจ และการขยายกิจการของธุรกิจ Startup
3. การยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ๆ บางเรื่องเป็นอุปสรรคให้กับธุรกิจ Startup เช่น กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและการทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการ กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร และกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
4. การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและกองทุนภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถส่งเสริมธุรกิจ Startup ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การจัดให้มีกองทุน
ในลักษณะ Matching Funds ที่ให้หน่วยงานภาครัฐร่วมลงทุนในธุรกิจ Startup กับภาคเอกชนได้
ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็น โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ควรมีการกำหนดลักษณะและขอบเขตของธุรกิจ Startup ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ชัดเจน โดยให้ครอบคลุม Startup ทุกลักษณะและไม่จำกัดขอบเขตจนเกินไป นอกจากนี้ ควรมีหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ควรช่วยตรวจสอบ (verify) สถานะ
และให้ความรู้คำแนะแก่ของธุรกิจ Startup อยู่เสมอ
2. ควรมีการยกเว้นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ไม่เอื้ออำนวย
ต่อการประกอบธุรกิจ Startup ในปัจจุบัน เช่น การให้หุ้นแก่พนักงาน (ESOP) การแปลงบุริมสิทธิ
ในหุ้นด้วย การใช้หุ้นกู้แปลงสภาพ อย่างไรก็ดี การยกเว้นดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายและต่อองค์กรธุรกิจประเภทอื่น ๆ
3. กฎหมายอื่น ๆ ที่อาจมีการยกเว้นหรือมีช่องทางพิเศษเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจของ Startup ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ คือ การยกเว้นขออนุญาตประกอบกิจการที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน และกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิบัตร
4. ปัญหาสำคัญอื่น ๆ ที่ควรมีการแก้ไข คือ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และควรมีหน่วยงานที่เป็น one-stop service เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะข้อจำกัดที่เกิดจากกฎระเบียบของทางราชการ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
“การมีกฎหมายใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหานั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากธุรกิจ Startup มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต สมควรต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยลักษณะของ Startup ที่จะได้รับการส่งเสริมควรมีขอบเขตกว้างขวาง และเห็นด้วยว่าจำเป็นจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง โดยอาจปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและช่วยเหลือ Startup ตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการจนถึงขั้นตอนการ Exit”
Sign in to read unlimited free articles