จุดมุ่งหมายของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) คือการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในการดำเนินงานให้ได้มากที่สุด ตามด้วยการดำเนินรอยตามแนวทาง 1.5°C ที่สอดคล้องกับเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based Targets) โดยในเวลาแค่เพียงปีเดียว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากถึง 130,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นอัตราลดลงที่ 22 เปอร์เซ็นต์ (ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560) และในเดือนตุลาคม 2562 อาคารทั้ง 13 แห่งของกลุ่มธุรกิจชไนเดอร์ อิเล็คทริค ก็เป็นอาคารปลอดคาร์บอน จากการที่นำ EcoStruxure และโซลูชันบริหารจัดการพลังงานผ่านระบบดิจิทัลของชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาใช้ในการดำเนินงาน
จากการลงนามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในเดือนธันวาคม ปี 2558 การต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็กลายเป็นเสมือนการแข่งขันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วพอที่จะหยุดไม่ให้ภูมิอากาศทั่วโลกสูงขึ้น ภาคก่อสร้างและอาคารมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 30 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องตามข้อมูลจากโครงการ Advanced Net Zero ของ World Green Building Council (WorldGBC) ที่ว่าบรรดาอาคารต่างๆ ในปัจจุบัน ต้องมีการปรับปรุงใหม่อย่างเร่งด่วนเพื่อเข้าสู่มาตรฐานการปลอดคาร์บอน เพื่อที่อาคารทั้งหมดเหล่านี้ จะสามารถดำเนินการโดยปลอดคาร์บอนภายในปี 2050 หรือปี 2593 นั่นเอง
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ยึดถือตามคำจำกัดความ “อาคารปลอดคาร์บอน” (net zero carbon buildings) ของ WorldGBC ซึ่งอาคารปลอดคาร์บอน คือ อาคารที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการจัดการพลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มรูปทั้งในและนอกไซต์งาน เพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในการดำเนินงานแต่ละปี
ในเดือนตุลาคม 2562 อาคารทั้ง 13 แห่งของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ก็กลายเป็นอาคารปลอดคาร์บอนทั้งหมด โดยตั้งอยู่ในประเทศจีน ยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยอาคารเหล่านี้มีการบริหารจัดการพลังงานผ่านระบบดิจิทัลโดยใช้ EcoStruxure Power และ EcoStruxure Building เพื่อช่วยประหยัดพลังงานในทุกปี โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค ช่วยให้ทั่วโลกประหยัดพลังงานได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ที่เริ่มโปรแกรมสร้างประสิทธิภาพพลังงาน (Schneider Energy Action energy efficiency program) นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2562 การดำเนินงาน 45 เปอร์เซ็นต์ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าหมุนเวียน
“ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เราต้องการนำพาและปรับเปลี่ยนไปสู่ภาพรวมด้านพลังงานแห่งอนาคต ไซต์งานของเราให้ประสิทธิภาพด้านพลังงานในแต่ละปี ซึ่งหลายแห่งผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้เอง และในบางกรณียังรวมถึงไมโครกริดและการกักเก็บพลังงานเอง นวัตกรรมปลอดคาร์บอนสามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในปัจจุบัน และให้ประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจ ไซต์งานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบบริหารจัดการพลังงานผ่านระบบดิจิทัลพร้อมสถาปัตยกรรมและแพลตฟอร์ม EcoStruxure ของเรามาใช้งานจริง” ซาเวียร์ ฮูท รองประธานอาวุโสฝ่าย Global Safety, Environment, Real Estate ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าว
ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค อาศัยความเชี่ยวชาญของทีมงานที่ปรึกษาในส่วนบริการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน Energy Sustainability Services (ESS) ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์มาช่วยในการมุ่งสู่จุดหมายเรื่องประสิทธิภาพด้านพลังงานและพลังงานหมุนเวียน
“ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นกรรมการของ Asia-Pacific Chamber ของ World Green Building Council เราสนับสนุนเป้าหมายของ WorldGBC ในการเปลี่ยนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดีขี้น ให้ประสิทธิภาพด้านพลังงานมากขึ้น และให้ความยั่งยืนยิ่งขึ้น อาคารต่างๆ มีศักยภาพมหาศาลในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ด้วยการออกแบบอาคารใหม่ทุกหลังรวมถึงการปรับปรุงอาคารเก่าโดยคำนึงถึงอนาคตเป็นหลัก” ทอมมี่ เหลียง ประธานประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและญี่ปุ่น กล่าว
Sign in to read unlimited free articles