Mike Peng : 6 คุณสมบัติ 'Design Thinking' พาสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรให้สำเร็จ | Techsauce

Mike Peng : 6 คุณสมบัติ 'Design Thinking' พาสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรให้สำเร็จ

ช่วงนี้มีคำพูดต่างๆ ที่กำลังเป็นเทรนด์และได้รับการพูดถึงมากมายในองค์กร อย่างคำว่า 'ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)' หรือ 'นวัตกรรม (Innovation)' จึงทำให้เกิดการระดมความคิดว่าจะทำอย่างไร ให้องค์กรใหญ่ๆ สามารถสร้างบรรยากาศที่เสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ให้ตามทันบริษัทเล็กๆ อย่าง Startup ได้

บริษัท ปตท. นำโดยทีม Express Solutions หรือ ExpresSo ได้เชิญคุณ Michael Peng กรรมการผู้จัดการของบริษัท IDEO Tokyo มาร่วมแชร์ความรู้ ภายใต้หัวข้อ 'Design + Innovation : Disrupting the Present to Create the Future' ที่อธิบายแนวคิด Design Thinking เพื่อนำไปปรับใช้กับองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพื่อพัฒนานวัตกรรมไปสู่อนาคต

IDEO & Design Thinking

หลายๆ คนอาจจะคุ้นชื่อบริษัท IDEO อยู่แล้ว แต่ก็คงมีหลายคนที่อาจจะสับสนกับบริษัทคอนโดมิเนียมอยู่บ้าง IDEO นี้คือบริษัทออกแบบ และเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ โดยเป็นที่รู้จักกับแนวคิด 'Design Thinking'

Mike อธิบายว่า แรกเริ่มเดิมที IDEO คือบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เคยร่วมงานกับ Steve Jobs ในการสร้างสรรค์ Apple mouse และมีส่วนร่วมในการออกแบบคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คตัวแรกของโลกด้วย หลังจากสั่งสมประสบการณ์หลายปี ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ขั้นตอน และ Mindset ที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น จริงๆ แล้วมันสามารถนำมาใช้ได้กับทุกๆ สิ่ง และแก้ไขทุกๆ ปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของ 'Design Thinking' ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์

คนส่วนใหญ่เวลาที่พูดถึงการพัฒนานวัตกรรมมักจะเริ่มจาก การนำเทคโนโลยีล้ำๆ มาใช้ แต่กลับไม่มีใครอยากจะใช้มันในชีวิตจริง เพราะมันใช้ยาก หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่ว่า Design Thinking คือการเริ่มคิดจาก 'คน' ก่อน โดยเราต้องเข้าใจว่า เขาเป็นใคร เขาอยากจะเป็นอะไรในอนาคต แล้วจึงคิดสิ่งใหม่ขึ้นมาให้ตอบสนอง

Design Thinking ไม่ได้เป็นเพียงขั้นตอน 1 2 3 ที่พอทำตามแล้วจะสามารถทำสำเร็จได้ทันที แต่มันคือ Mindset หรือวิธีคิดที่สร้าง value อย่างเช่น การเรียนรู้จากความผิดพลาด การช่วยทำให้คนอื่นประสบความสำเร็จ การทำงานร่วมกันกับคนอื่น ซึ่งเป็นคุณค่าที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

หลังจากอยู่ที่ญี่ปุ่นมากว่า 7 ปี Mike เรียนรู้วัฒนธรรมที่เรียกว่า Kaizen ซึ่งเป็นความเชื่อว่า เมื่อทำบางสิ่งบางอย่างจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งจนกว่าจะ perfect ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างความสำเร็จจาก 1 ไปถึง 100 แต่เขากลับมองว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ จะทำยังไงให้ สร้าง 0 ไป 1 ให้ได้ก่อน การสร้างบางสิ่งขึ้นมาจากศูนย์นั้น ต้องทำอย่างไร และนี่ความสำคัญของ Design Thinking ที่จะมาตอบโจทย์ปัญหานี้

เขากล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในองค์กรคือ เราจะต้องเชื่อในความแตกต่าง เชื่อในคนที่มาจากคนละที่ มีความถนัดคนละอย่าง แต่มาร่วมสร้างสิ่งเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกันได้ โดยจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อต่อการสร้างสรรค์ไอเดีย

Mike มองว่า อนาคตที่เราจินตนาการนั้น มันจะต้องถูกสร้าง และดีไซน์ขึ้นมาเอง แต่ปัญหาของคนในองค์กรใหญ่ๆ ในปัจจุบันคือ การที่ทุกคนต้องโฟกัสอยู่กับงานในปัจจุบัน จนลืมให้ความสำคัญกับการพัฒนาไปสู่อนาคต ดังนั้นการบาลานซ์สองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ ที่ทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัลและเร็วขึ้น ทางเดียวที่องค์กรใหญ่จะตามทัน ก็คือการต้องมีความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง

คำแนะนำของผม ต่อองค์กร คือ คุณควรจะต้องแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์

หลังจากที่ IDEO ได้ทำงานกับบริษัทต่างๆ มามากกว่า 100 บริษัท จึงตกผลึกมาได้มาเป็นคุณสมบัติ 6 ประการที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กรขึ้นมาได้

1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน

คือการที่เราต้องเข้าใจก่อนว่าเรามีอยู่ทำไม องค์กรจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และทุกคนในบริษัทต้องรู้ และทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น

เขายกตัวอย่างบริษัทที่ IDEO ร่วมงานด้วยอย่าง Pacific Life บริษัทประกันขนาดใหญ่ ที่กำลังจะถูก disrupt โดยเทคโนโลยี Pacific Life ได้ออกบริษัทลูกซึ่งเป็น startup ใหม่ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ 'Swell' แพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์เพื่อสังคม ที่ลงทุนกับ GreenTech ให้กับองค์กรที่รักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น โดย Swell มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าอยากจะเจาะกลุ่มของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่อยากซื้อประกันแบบเดิมๆ อีกแล้ว ด้วยความคิดที่ว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ต้องการลงทุนให้กับอะไรก็ตามที่ทำให้โลกดีขึ้น และลงทุนกับองค์กรที่สนใจรักษาสภาพแวดล้อมจริงๆ อย่างเช่น พลังงานทดแทน การรักษาโรค การรักษาน้ำสะอาด การทำรีไซเคิล หรือ Healthy Living

ซึ่ง Swell รู้จักลูกค้าของตัวเองเป็นอย่างดี และสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อตอบสนองสิ่งนั้น

2. มองออกไปข้างนอก

การมองออกไปข้างนอกในที่นี้ คือ การมองหาแรงบันดาลใจ หรือเทรนด์ใหม่ๆ จากคนนอกวงการที่ตัวเองอยู่ มองออกไปที่อุตสาหกรรมอื่นๆ พูดคุยกับลูกค้า เรียนรู้จากลูกค้า และนำสิ่งนั้นมาปรับใช้ เพื่อเสริมสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา

กระบวนการเลือกตั้งในแคลิฟอเนียร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการมองออกไปข้างนอก โดยมีการพัฒนาวิธีแบบดิจิทัลที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้ง โดยที่มีฟังก์ชันตอบสนองทุกๆ คนได้ รวมถึงมีความปลอดภัยและแม่นยำมากขึ้น

IDEO ได้ร่วมทดลองและออกไปพูดคุยกับคนจำนวนมาก เพื่อหาวิธีการโหวตที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ คนหูหนวก ตาบอด หรือนั่งวีลแชร์ รวมถึงการสร้างฟังก์ชันที่ประหยัดเวลาอย่างเช่น สามารถโหวตล่วงหน้าผ่านมือถือได้ เพียงแค่ต้องไปแสกนรหัสที่เครื่องในคูหาโหวต และกดคอนเฟิร์มว่านี้คือตัวเลือกที่เราเลือกจริงๆ โดยมีแผนว่าจะเริ่มนำวิธีนี้มาใช้ในปี 2019

ตัวอย่างที่สอง คือบริษัท Google ที่ได้ตั้งกลุ่ม ATAP หรือ Advance Technology And Product ขึ้นมาเพื่อคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีบนโลกใบนี้ หนึ่งในไอเดียนั้นคือ การหาทางใส่เทคโนโลยี ลงไปในสิ่งที่ไม่ใช่เทคโนโลยี อย่างเช่น การฝังเทคโนโลยีไปกับเสื้อผ้าที่ผู้คนใส่ โดยจะต้องใช้ง่าย มีขนาดเล็ก และใช้ได้จริง

ดังนั้น Google จึงได้มองออกไปนอกอุตสาหกรรมของตนเอง และร่วมงานกับบริษัทเสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Levi เพื่อทดลองทำสิ่งนี้ขึ้นมา โดยผลิตแจคเก็ต ที่เอาไว้ใส่เวลาปั่นจักรยาน คนขับสามารถแตะที่แขนเสื้อ เพื่อเปลี่ยนเพลง รับสายหรือ ตัดสายโทรศัพท์ ก็ได้

เนื่องจากมันเป็นแฟชั่น และเกี่ยวข้องกับผ้าที่จะต้องซัก ดังนั้น เราจึงพัฒนา sensor ขึ้นมาให้ติดกับเสื้อได้ และทดลองให้คนได้ลองใช้ว่ามันใช้ได้จริงไหม ทั้งการสัมผัส และ ท่าทางที่จะสามารถทำได้เวลาปั่นจักรยาน

3. ทดลองใช้จริง

Mike กล่าวว่าเมื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา จะต้องมีการทดลอง เรียนรู้ และแก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อให้นวัตกรรมนั้นตอบโจทย์คนใช้จริงๆ ไอเดียของมันก็คือ การทดลองคอนเซ็ปใหม่ๆ โดยที่ยังไม่ต้องเสียเงินลงทุนมากมายไปตั้งแต่ต้น

และเมื่อทดลองให้คนใช้จริงๆ แล้ว ต้องถามคำถามที่ลึกลงไป ว่า 'ทำไม' หรือ เพราะอะไร ถึงชอบ หรือไม่ชอบผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถ้าหากไม่ชอบ ทำไมถึงไม่ชอบ และจะทำอย่างไรถึงจะใช้มันทุกวัน และเมื่อได้คำตอบ ก็ต้องเรียนรู้และ ลองทำสิ่งใหม่ๆ ออกมาเสมอ

เขากล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจว่า บริษัทที่่ทำการทดลองก่อน และสร้าง solutions มาอย่างน้อย 5 ครั้ง จะมีเปอร์เซ็นสำเร็จมากกว่าองค์กรอื่นถึง 50%

4. การร่วมมือกัน

Mike กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการร่วมงานกัน คือการทำงานร่วมกับคนเยอะๆ แต่จริงๆ แล้ว การร่วมมือกันในที่นี่ คือการนำฟังก์ชันต่างๆ มารวมกัน นำคนจากแตกต่างวงการ ที่มีเบื้องหลังและประสบการณ์แตกต่างกันมาช่วยกันคิดจากหลายๆ มุม

IDEO เคยต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนในบริษัท IDEO เอง ก็ไม่ได้มีคนที่อายุมากเท่าไหร่ ดังนั้นจึงต้องนำคนในช่วงอายุ 80 มาช่วยในการให้ความเห็น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์จริงๆ

5. การเสริมสร้างศักยภาพ

การที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้กับพนักงานในองค์กร จะต้องมีความเชื่อมั่นในผู้คน และช่วยสนับสนุนให้ทำสิ่งดีๆ พร้อมทั้งให้อิสรภาพทางความคิด เพื่อจุดประกายไอเดีย

ตัวอย่างหนึ่งที่ IDEO ทำ คือการร่วมงานกับ Intercorp บริษัทยักษ์ใหญ่ในเปรู ที่มีธุรกิจหลายอย่าง โดยผู้บริหารของ Intercorp ตั้งใจอยากให้ IDEO สอนพนักงานให้สามารถทำงานและสร้างไอเดียขึ้นมาด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงได้สร้างโรงเรียนขึ้นมาจริงๆ เพื่อสอนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ และสร้างแล็ปขึ้นมาข้างใน Intercorp ด้วย

6. ใส่ใจในรายละเอียด

'จะพัฒนาจากดี ให้เป็นยอดเยี่ยมได้อย่างไร?' คือคำถามเมื่อเรามีธุรกิจที่มั่นคงดีอยู่แล้ว

องค์กรต่างๆ สามารถพัฒนาจนเยี่ยมยอดได้ ด้วยการไม่หยุดอยู่กับที่ เพราะจะโดนคนอื่นแซงหน้าไปจนหมด Mike กล่าวว่าทุกๆ องค์กรควรจะต้องพยายามออกสิ่งใหม่มาอยู่เสมอ และถึงแม้มันจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยก็จะได้เรียนรู้จากมัน

MassMutual บริษัทประกันเก่าแก่ใน Massachusetts ต้องการจะเข้าถึงลูกค้ายุค Millennial ที่ปัจจุบันไม่มีความต้องการซื้อประกัน หรือถูกขายตรงอีกแล้ว เขาจึงตีโจทย์ว่า คนยุค Millennial จะมองว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับการเงิน เช่นความรู้เรื่องบ้าน การกู้เงิน การลงทุน ดังนั้น IDEO จึงร่วมสร้างคาเฟ่ pop-up ขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยภายในนั้นมีหนังสือที่สอนเกี่ยวกับการเงิน การใช้ชีวิต โดยไอเดียก็คือจะไม่ขายประกันให้ตรงๆ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากโดนขายตรงๆ อีกแล้ว แต่เมื่อสอนให้รู้วิธีการใช้เงิน และความเสี่ยง ทุกคนก็จะไปซื้อประกันด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องขายให้ตรงๆ

ทั้งหมดนี้ คือคุณสมบัติที่จะทำให้องค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้นถึง 3.4 เท่า

4 สิ่งที่องค์กรสามารถเริ่มทำได้แล้ว เพื่อการเก็บเกี่ยวอนาคต

Mike ใช้คำว่า 'เก็บเกี่ยว' อนาคต เพราะเขาอธิบายว่า ถึงแม้การพัฒนานวัตกรรมมันฟังดูเป็นอะไรที่ใหม่ และน่าตื่นเต้น แต่การจะทำอะไรสักอย่างให้พัฒนา และ Disrupt สิ่งเก่าๆ ได้นั้น จะต้องใช้เวลานาน แต่มันก็มีบางสิ่งที่องค์กรสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเริ่มเก็บเกี่ยวอนาคต นั่นก็คือ

  1. สร้างโปรเจกต์ขึ้นมาเพื่อส่องนำทางไปหาอนาคต - เขาเรียกโปรเจกต์เหล่านี้ว่า Beacon project หรือ light house ที่ส่องแสงให้เรือมองเห็นทางเวลาเทียบท่า โปรเจกต์เหล่านี้จะส่องแสงให้คนพอนึกอนาคตออก อาจจะเป็นเพียงโปรเจ็กต์เล็กๆ ที่ทำให้คนหันมาสนใจองค์กร และมองว่ามันเท่ อยากจะทำบ้าง
  2. สร้างบริษัทลูกที่จะทำสิ่งใหม่ได้เร็วกว่า ศึกษาได้เร็วกว่า และนำกลับมาบอกองค์กรใหญ่
  3. สร้าง creative lab เพื่อทดลองไอเดีย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์
  4. สร้าง creative skills และ mindset ให้กับคนในองค์กร

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...

Responsive image

ปรับองค์กรสู่ Digital Future เริ่มที่ ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ ฟัง NTT DATA ผู้เชี่ยวชาญ Digital Transformation

บทความนี้ Techsauce จะพาไปหาคำตอบว่า…ทำไมทรัพยากรคนถึงมีผลต่อ Digital Transformation และองค์กรควรรับมืออย่างไร?...