กสิกรไทยไตรมาส 3 กำไร 11,282 ล้าน | Techsauce

กสิกรไทยไตรมาส 3 กำไร 11,282 ล้าน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวในกรอบจำกัด เนื่องจากภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสัญญาณเปราะบางของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนมีทิศทางชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 แม้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่แรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในปีนี้น่าจะมีจำกัด ประกอบกับยังต้องติดตามผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงผลกระทบจากระดับหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงที่อาจกดดันทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ นอกจากนี้ยังต้องติดตามความตึงเครียดในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไป ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนในกรอบสูงเป็นเวลานาน ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และทำให้ตลาดการเงินรวมถึงค่าเงินบาทมีความผันผวนตามไปด้วย

ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.35% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 81,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังรอบคอบอย่างสม่ำเสมอ ในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงสัญญาณการชะลอตัว และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในกรอบจำกัดตามที่กล่าวข้างต้น จึงพิจารณาตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 31.35% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบสำรองฯ ในไตรมาส 3 กับไตรมาสก่อนๆ สำรองฯ ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.16% สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตรา 0.46% และจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น ขณะที่ธนาคารยังมีการดูแลลูกค้าเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินการเชิงรุกในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากันผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร สำหรับอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.62% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 19.09% หลัก ๆ จากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่เพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 12.57% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ และส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.65% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2566 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยมีจำนวน 11,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.62% จากไตรมาส 2 ปี 2566 สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 27,294 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานลดลงหลัก ๆ จากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่ลดลงตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 42.07% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.37%

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,266,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 19,635 ล้านบาท หรือ 0.46% หลัก ๆ เกิดจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิเพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลงจากการพิจารณาปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.11% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 154.90% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.62% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.65%

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

คนไทยไปญี่ปุ่น เตรียมสแกนจ่ายได้ ผ่านระบบ QR Code คาดเริ่มเมษาปีหน้า

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มพูดคุยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเปิดใช้งานบริการชำระเงินผ่าน QR Code ร่วมกัน ช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายสะดวกสบาย ไ...

Responsive image

Jitta ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าแก้วิกฤตการเงิน หนุนคนไทยออมและลงทุนอัตโนมัติ

Jitta เข้าสู่ปีที่ 12 เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า...