"ส่อง KBank ต่อจิ๊กซอว์สำคัญ สร้าง ‘วัฒนธรรมนวัตกรรม’ ในใจพนักงาน" | Techsauce

"ส่อง KBank ต่อจิ๊กซอว์สำคัญ สร้าง ‘วัฒนธรรมนวัตกรรม’ ในใจพนักงาน"

เมื่อนิยามของคำว่า นวัตกรรม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ หรือเป็นเพียงโอกาสในการเติบโตขององค์กร แต่ขยับเข้าใกล้ความหมายที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดมากขึ้นทุกที การสร้างนวัตกรรมจึงเป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า คือ สร้างวัฒนธรรมที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ กระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ เปิดรับทุกความเป็นไปได้ โดยเฉพาะกับองค์กรใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน

เพราะพนักงานคือหัวใจสำคัญที่สุดขององค์กร โจทย์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องตีให้แตกในวันที่นาฬิกาแห่งคลื่น Disruption นับถอยหลังเร็วขึ้นทุกที ทำอย่างไรพนักงานถึงจะเข้าใจความสำคัญของการต้องเปลี่ยนแปลงนี้ ทำอย่างไรพนักงานจึงจะมี Mindset ที่ถูกต้อง และทำอย่างไรพนักงานถึงจะเปลี่ยนวิถีการทำงานรูปแบบเดิมเพื่อทำในสิ่งใหม่

ชวนทุกท่านมาถอดบทเรียนจากเวทีการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมของธนาคารกสิกรไทย จากโปรแกรม PossAbility Acceleration หนึ่งก้าวเดินทางกลยุทธ์สำคัญที่ทางกสิกรไทยใช้เป็นภาพสะท้อนวิสัยทัศน์ และวิธีคิดเรื่องการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม โครงการเริ่มต้นจากการเปิดรับไอเดียนวัตกรรมจากพนักงาน ทุกคน ทั่วประเทศ’ จากนั้นก็คัดเลือกทีมมาเข้าโปรแกรม Accelerator เพื่อเข้ากระบวนการบ่มเพาะ ทำการตรวจสอบความถูกต้องของแนวคิด (Validate Idea) สร้างต้นแบบ (Prototype) และนำเสนอ (Pitching) ก่อนนำไปพัฒนาเป็นบริการสู่ตลาดในอนาคต

Techsauce ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมพนักงานเจ้าของไอเดียนวัตกรรมยอดเยี่ยมที่ชนะรางวัล Best PossAbility Idea  ทั้ง 3 ทีม ได้แก่ ทีม Make a Wish ทีม Spotlight และทีม K-Guarantee และทีมนักพัฒนาโปรแกรมจาก KBTG ที่สร้างต้นแบบยอดเยี่ยม ผู้ชนะรางวัล Best Prototype  ทั้ง 3 ทีม ได้แก่ ทีม OK Kojo District ทีม Spotlight และทีม Insurance Share Buy มาฟังกันว่าในมุมของพนักงานเองที่ได้สัมผัสประสบการณ์จากโปรแกรมดังกล่าว พวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง และมีอะไรที่ ‘เปลี่ยน’ ทั้งวิธีคิดวิธีการทำงานของพวกเขา

และนี่คือบทเรียนที่เราถอดออกมาได้จากพนักงานที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้ เริ่มต้นจากทีมที่ชนะรางวัลเจ้าของไอเดียนวัตกรรมยอดเยี่ยม

ทุกสิ่งเริ่มต้นจากลูกค้า และความสำคัญของการ Validate Idea

 “เราอาจจะมีโซลูชั่นอยู่ในใจ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโปรแกรมนี้คือการเริ่มต้นจาก Pain Point ของลูกค้า ตั้งแต่ว่าลูกค้ามี Pain Point อย่างที่เราคิดหรือไม่” ทีม Make a Wish เจ้าของไอเดียพัฒนาแอปฯ ที่ช่วยให้เด็กๆ สามารถเก็บออมเงินได้ดีขึ้น สร้างวินัยทางการเงินให้กับเด็ก ๆ โดยแอปฯ ทำหน้าที่เป็นเหมือนแพลตฟอร์มเชื่อมความร่วมมือระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งไอเดียเริ่มต้นมาจากการที่คนในทีมต่างมี Pain Point  เรื่องวินัยทางการเงิน และคิดว่าทุกคนก็น่าจะมีปัญหานี้เหมือนกัน จากการเข้าร่วมโปรแกรมนี้ ทางทีมจึงได้เรียนรู้กระบวนการ Validate Idea (การตรวจสอบไอเดีย) “ถ้าเราเข้าใจตรงนี้อย่างละเอียด จึงจะนำไปสู่การพัฒนาไอเดียที่ตรงความต้องการ”

Best PossAbility Idea : ทีมMake a Wish 

“ได้มีโอกาสลองเอาไอเดียของตัวเองมาต่อยอด เพื่อจะได้รู้ว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน และตลอดกระบวนการพัฒนาก็ทำให้ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอย่างละเอียด เป็นการเปิดโลกให้เห็นว่าไอเดียที่คิดมีความแข็งแรงแค่ไหน แล้วช่วยกันปรับแต่งไอเดียให้มีความแข็งแรงมากขึ้น” ทีม Spotlight เจ้าของไอเดียแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาไอเดียมาจากการมุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใสในการรับบริจาคได้ ย้ำถึงความสำคัญของการทดสอบและพัฒนาไอเดียจากมุมมองหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่มีความเกี่ยวข้อง

ขณะที่อีกทีมที่ชนะรางวัล Best PossAbility Idea อย่าง K-Guarantee ที่พัฒนาไอเดียโซลูชั่นที่มุ่งเป็นตัวกลางช่วยแก้ปัญหาของผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ พูดเสริมจากมุมมองในการทดสอบไอเดียกับลูกค้า นั่นคือการเอาไอเดียมากลั่นกรองด้วยปัจจัยด้านธุรกิจขององค์กรเพื่อหาความเป็นไปได้ที่แท้จริง “ในทุกสเตจที่ผ่านไปของโปรแกรม จะทำให้ไอเดียของเราได้รับการกลั่นกรองมากขึ้น ไอเดียเราโดนกลั่นกรองด้วยลูกค้าที่เราเข้าไปพบปะสัมภาษณ์ ว่าเขามีปัญหานั้นจริงไหม กลั่นกรองจากมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน  และกลั่นกรองด้วยปัจจัยทางธุรกิจของบริษัท ว่าไอเดียที่เราจะทำมีความสมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจไหม”

Best PossAbility Idea : ทีม K-Guarantee

สร้างคอนเนคชั่นภายในบริษัท เห็นภาพรวมบริษัท รู้ว่าแต่ละฝ่ายทำอะไรบ้าง เพื่อเห็นเส้นทางจากการพัฒนาไอเดียไปสู่มือลูกค้า

มองเห็นว่างานที่ผ่านจากเราไปจะถูกต่อยอดจนไปสู่มือลูกค้าอย่างไร พอเห็นภาพรวมกระบวนการและรู้จักทีมที่เกี่ยวข้อง ก็รู้ว่าหากมีคำถามมีปัญหา ต้องไปถามใคร

“เราได้ไปพบปะกับทีมอื่น ๆ ในบริษัท หลาย ๆ ทีมคือทีมที่เราไม่รู้ว่าก่อนด้วยซ้ำว่ามีอยู่ในบริษัท เหมือนเราเป็นดีไซน์เนอร์ก็ทำงานแค่กับตัวเอง ครั้งนี้เลยได้มองเห็นว่างานที่ผ่านจากเราไปจะถูกต่อยอดจนไปสู่มือลูกค้าอย่างไร พอเห็นภาพรวมกระบวนการและรู้จักทีมที่เกี่ยวข้อง ก็รู้ว่าหากมีคำถามมีปัญหา ต้องไปถามใคร” ตัวแทนจากทีม Spotlight ซึ่งทำงานในตำแหน่งดีไซเนอร์ เล่าให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างคอนเนคชั่นภายในบริษัท เพราะกระบวนการสร้างนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

โดยทีม Make a Wish ช่วยเสริมในประเด็นนี้ว่าการที่เราเข้าใจภาพรวมของบริษัท รู้ว่าแต่ละฝ่ายทำอะไร ก็จะทำให้เราสามารถมองเห็นเส้นทางการพัฒนาไอเดียในองค์กรได้ “ความท้าทายคือการที่พนักงานไม่เข้าใจภาพรวมขององค์กร ไม่รู้ว่าแต่ละฝ่ายทำงานอย่างไร ซึ่งโปรแกรมนี้ทำให้เราได้เห็น ทีนี้พอเรามีไอเดียใหม่ขึ้นมา เราก็จะมีความกล้าที่จะเสนอ และมองเห็นเส้นทางที่จะพัฒนาไอเดียนี้ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กรได้”

Best PossAbility Idea : ทีม Spotlight

พนักงานคือคนที่เจอลูกค้าทุกวัน คือคนที่รู้ความต้องการของลูกค้า รู้ปัญหาของระบบ

เชื่อว่าพนักงานสองหมื่นกว่าคนคิด กับผู้บริหารไม่กี่สิบคนคิด ยังไงสองหมื่นกว่าคนช่วยกันคิดก็มีโอกาสที่จะได้ไอเดียที่ดีกว่ามากยิ่งขึ้น 

สิ่งที่ทีม Make a Wish เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมนวัตกรรม “พนักงานที่เจอลูกค้าอยู่ทุกๆ วัน จะรู้มากกว่าว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้ว Process เดิมที่ทำอยู่คืออะไร ที่ทำอยู่ทุกวันไม่ดีอย่างไร แล้วถ้าองค์กรสร้างนวัตกรรมได้จากจุดนั้นได้ เราน่าจะได้โซลูชั่นที่แข็งแรง”

วัฒนธรรมการทำงานที่สั่งสมฝังรากมานานอย่างการทำงานแบบ Top-Down อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างนวัตกรรม ในมุมมองของทีม K-Guarantee เชื่อว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนว่าองค์กรเปิดรับความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่จากพนักงาน   “จริงๆ แล้วทุกคนมีไอเดียกันทั้งหมด แต่ก่อนอาจจะเป็นรูปแบบ Top-Down แต่รูปแบบจากโปรแกรมนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถที่จะเสนอไอเดียขึ้นมา เชื่อว่าพนักงานสองหมื่นกว่าคนคิด กับผู้บริหารไม่กี่สิบคนคิด ยังไงสองหมื่นกว่าคนช่วยกันคิดก็มีโอกาสที่จะได้ไอเดียที่ดีกว่ามากยิ่งขึ้น”

สิ่งที่ทำให้โปรแกรม PossAbility Acceleration แตกต่างจากเวทีประกวดนวัตกรรมส่วนใหญ่ นั่นคือ การแบ่งรางวัลระหว่างทีมเจ้าของไอเดีย กับทีมนักพัฒนาต้นแบบหรือ Prototype ซึ่งผู้เข้าร่วมแข่งกันก็คือเหล่าบรรดา Developer ที่มักจะไม่ใช่กลุ่มคนที่ขึ้นไปพูดนำเสนอบนเวทีบ่อยนัก เวทีที่แยกรางวัลเชิงเทคนิคออกมาแบบนี้จึงทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยและถอดบทเรียนการเรียนรู้ในฝั่งของนักพัฒนาที่น่าสนใจและหาโอกาสฟังได้ไม่ง่ายนัก และต่อไปนี้คือมุมมองของสามทีมนักพัฒนาจาก KBTG ที่ชนะในรางวัล Best Prototype

ในวัฒนธรรมนวัตกรรม Developer ควรได้มีโอกาสทำงานในรูปแบบใหม่ และโอกาสลองผิดลองถูก

ทีม Insurance Share Buy ซึ่งพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มขายประกันออนไลน์เล่าให้ฟังว่าในการทำงานปกติ นักพัฒนามักได้รับโจทย์งานที่มีรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่โจทย์ใหญ่ไล่ลงมาถึงรายละเอียดเชิงเทคนิค ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสในการทดลองการทำงานในรูปแบบอื่นๆ และไม่สามารถลองผิดลองถูกกับแนวคิดใหม่ได้ ในขณะที่ธรรมชาติของการสร้างนวัตกรรมคือการเอาไอเดียมาลองพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ หรือการลองผิดลองถูกและเรียนรู้เพื่อพัฒนาจนอาจเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ในที่สุด “แต่การทำ Prototype เรามีแค่โจทย์หลัก นอกนั้นจะเล่นอะไรก็ได้ ส่วนตัวสนุกกับการทำแบบนี้”

Best Prototype : ทีม Insurance Share Buy  

ตัวแทนจากทีม OK Kojo District ซึ่งพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มรวมผู้ประกอบการชั้นดีเข้าไว้ด้วยกัน ก็เล่าประสบการณ์การทำงานที่ต่างออกไปจากโปรแกรมนี้ให้ฟังว่า “งานพัฒนาที่ทำอยู่ปกติกับการสร้างต้นแบบต่างกันเยอะมาก ตรงนี้เปิดโอกาสให้ทำผิดพลาดได้ สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้ ลองถูกลองผิดกับเทคนิคใหม่ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องกระบวนการ” 

เช่นเดียวกันกับทีมพัฒนาที่นำไอเดียของทีม Spotlight มาพัฒนาเป็นต้นแบบที่กล่าวเสริมในประเด็นนี้ “งานปกติจะถูกเซ็ตความคาดหวัง และโซลูชั่นไว้ พอเป็นโครงการนี้สามารถใส่ไอเดียส่วนตัวเข้าไประหว่างพัฒนาได้ ทำให้เกิดโซลูชั่นใหม่” 

‘การสื่อสาร’ หัวใจสำคัญของการสร้างนวัตกรรมร่วมกันในองค์กร

 Mindset ที่เปิดกว้างจะเป็นพื้นฐานทางการสื่อสารที่ดี

เรามีคำถามต่อทีมนักพัฒนาว่าการทำงานในโปรแกรมนี้ที่ต้องทำร่วมกับทีมเจ้าของไอเดีย ด้วยความที่ทีมเหล่านั้นมาจากตัวแทนของหลายฝ่ายงาน อาจไม่มีพื้นความเข้าใจการทำงานร่วมกับทีมนักพัฒนามาก่อน ตรงนี้มีช่องว่างอย่างไรบ้าง ซึ่งคำตอบที่เราได้ก็คือหัวใจสำคัญในการสื่อสาร

“อย่างแรกคือต้องมีการออกแบบช่องทางการสื่อสารให้พูดคุยกันได้อย่างดีที่สุด บ่อยที่สุด แล้วเราควรมีความเคารพซึ่งกันและกัน บางปัญหาฝ่ายธุรกิจควรเป็นคนตัดสิน เราก็ควรจะให้น้ำหนักทางนั้น หรือบางอย่างที่เป็นการตัดสินใจเชิงเทคนิค อาจจะต้องให้น้ำหนักทางฝั่ง Developer มากกว่า อาจจะต้องสร้างวัฒนธรรมตรงนี้ให้ชัดเจน” ตัวแทนจากทีม OK Kojo District กล่าวเปิดประเด็น เสริมด้วยทาง Insurance Share Buy ที่มองว่าช่องทางการสื่อสารสำคัญ แต่การที่มีใจเปิดกว้างของคนทำงานร่วมกันก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน “Mindset ที่เปิดกว้างจะเป็นพื้นฐานทางการสื่อสารที่ดี”

ในวัฒนธรรมนวัตกรรม นักพัฒนาควรพัฒนาทักษะอะไร

ทีมพัฒนาต้นแบบ Spotlight แนะนำว่านักพัฒนาส่วนใหญ่อาจต้องเพิ่มทักษะด้าน Soft Skill โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสาร ขณะที่อีกสองทีมเชื่อว่านักพัฒนาควรหาโอกาสศึกษาเครื่องมือใหม่ๆ และทดลองวิธีการทำงานใหม่ๆ

Best Prototype : ทีม OK Kojo District

Developer ที่มีเครื่องมือเดียวก็เหมือนเรามีแต่ค้อน ถ้าเรามีแค่ค้อนเราจะมองการแก้ปัญหาทุกอย่างเป็นการต้องใช้ค้อนทุบหมดเลย

OK Kojo District ให้เหตุผลว่า “เวลาที่เราเรียนเครื่องมือใหม่ๆ ก็จะได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ เพราะภาษาของแต่ละเครื่องมือก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และสามารถเอาแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับภาษาอื่นๆ ได้”

 ปิดท้ายด้วย Insurance Share Buy ที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพของการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ได้อย่างชัดเจน “Developer ที่มีเครื่องมือเดียวก็เหมือนเรามีแต่ค้อน ถ้าเรามีแค่ค้อนเราจะมองการแก้ปัญหาทุกอย่างเป็นการต้องใช้ค้อนทุบหมดเลย ถ้าเรามีเครื่องมือหลายอย่าง เวลาเราทำงานเราก็จะเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับงานนั้นได้มากกว่า”

Best Prototype : ทีม Spotlight

ไม่ว่าองค์กรจะมองหานวัตกรรมเพื่อต่อยอดสินค้าหรือบริการที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งมากขึ้น หรือจะเป็นนวัตกรรมเพื่อค้นหาน่านน้ำใหม่ สำคัญที่สุดคือพนักงานทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม และสิ่งที่จะหล่อหลอมคนทั้งหมดในองค์กรให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางดังกล่าวคือ "วัฒนธรรมนวัตกรรม" ซึ่งโปรแกรม PossAbility Acceleration ของ KBank เป็นตัวอย่างบทเรียนการเรียนรู้ที่ดีในการให้พนักงานมีความเข้าใจในกระบวนการสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ไม่มีพื้นความรู้มาก่อนไปจนถึงกลุ่มพนักงานที่คลุกคลีกับการสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ต่างก็ได้เข้ามาทดสอบไอเดีย ลองผิดลองถูกกับวิธีใหม่ๆ และถอดบทเรียนเพื่อต่อยอดสู่การทำงานในชีวิตประจำวัน รวมถึงความเป็นไปได้ในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ในองค์กร

ความท้าทายคือการที่จะทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรซึมซับวัฒนธรรมดังกล่าว กล้าคิด กล้าทำอย่างแตกต่าง แม้ว่ากระบวนการของนวัตกรรมจะเต็มไปด้วยเส้นทางของการลองผิดมากกว่าลองถูก แต่องค์กรไหนที่สามารถขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมนวัตกรรมได้จริง จะเป็นองค์กรที่สามารถสร้างสิ่งที่ยังไม่มีในปัจจุบัน หรือยัง 'เป็นไปไม่ได้' ในวันนี้ ให้ 'เป็นไปได้' ได้ในที่สุด


บทความนี้เป็น Advertorial 

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

คนไทยไปญี่ปุ่น เตรียมสแกนจ่ายได้ ผ่านระบบ QR Code คาดเริ่มเมษาปีหน้า

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มพูดคุยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเปิดใช้งานบริการชำระเงินผ่าน QR Code ร่วมกัน ช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายสะดวกสบาย ไ...

Responsive image

Jitta ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าแก้วิกฤตการเงิน หนุนคนไทยออมและลงทุนอัตโนมัติ

Jitta เข้าสู่ปีที่ 12 เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า...