NIA อัปเดตวงโคจรสตาร์ทอัพไทย พร้อมเผยโครงการดันสตาร์ทอัพสู่ 'ยูนิคอร์น' | Techsauce

NIA อัปเดตวงโคจรสตาร์ทอัพไทย พร้อมเผยโครงการดันสตาร์ทอัพสู่ 'ยูนิคอร์น'

สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดสถิติและแนวโน้มการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย เผยโอกาสในปี 2024 กลุ่มเอไอมีโอกาสรับการลงทุนสูง มูลค่ามากกว่า 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมี 5 สตาร์ทอัพดาวเด่น คือ กลุ่มเกษตร-อาหาร-สมุนไพร, สุขภาพ-ยา ซอฟต์พาวเวอร์ เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ และการท่องเที่ยว ที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้สตาร์ทอัพไทย

NIA

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศไทยในปีนี้พบว่ามีสตาร์ทอัพจำนวน 2,100 ราย แบ่งเป็น ระยะ Pre-seed 700 ราย และระยะ Go-to market/Growth 1,400 ราย โดยในปี 2567 NIA ยังคงเดินหน้าผลักดันและพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทยให้พร้อมรับมือเทรนด์การเปลี่ยนแปลงและความต้องการด้านนวัตกรรมของตลาดอาเซียนและตลาดโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ 

  • ช่วง 3 ปีมานี้ ภูมิภาคอาเซียนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึงร้อยล้านราย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลยังคงมาแรง และมีแนวโน้มเติบโต 
  • เทรนด์ Generative AI ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสาธารณะ โดยคาดว่าภายในปี 2569 องค์กรมากกว่าร้อยละ 80 จะใช้ Gen AI API และโมเดลต่าง ๆ มาปรับใช้ในแอปพลิเคชันที่เปิดใช้งาน GenAI ในสภาพแวดล้อมการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2566 ที่น้อยกว่าร้อยละ 5 

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความไม่แน่นอนของตลาด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และแนวทางการลงทุนที่เน้นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการระดมทุนในปี 2023 ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2022 แต่ในปี 2024 นี้ คาดว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นตัวและเติบโตมากขึ้น ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุน เนื่องจากมีตลาดในประเทศที่ใหญ่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงการจัดตั้งธุรกิจและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและคุ้มค่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งานสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีตลาดหลักทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในโลกในเรื่องจุดแข็งของการประเมินมูลค่าและสภาพคล่อง และสตาร์ทอัพมีราคาการลงทุนยังไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากต่างประเทศ 

ในปี 2567 NIA จึงเชื่อว่าจะมีการนำ AI มาใช้ในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งการวิเคราะห์ธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด การปรับปรุงกระบวนการทางการแพทย์ การใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา การสร้างงาน ดังนั้น อุตสาหกรรมที่ใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีแนวโน้มมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้นมากกว่าหกพันล้านบาท ขณะที่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จาก AI ซึ่งในปีนี้ NIA ได้งบด้านการทำวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประมาณ 150 ล้านบาท

NIA มีนโยบายในการกระตุ้นสตาร์ทอัพใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

  • 1. เกษตร-อาหาร-สมุนไพร (Agriculture- Food-Herb) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและมากพอที่จะส่งออกในอนาคต 

  • 2. สุขภาพและยา (Health and Medicine) รองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างนวัตกรรมมาช่วยดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทย 

  • 3. ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยมีวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และดีไซน์ที่โดดเด่น ไม่ต้องลงทุนร้อยล้านพันล้าน แต่เกิดผลกระทบสูงได้ 

  • 4. เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ตอบสนองต่อสถานการณ์โลกปัจจุบันในเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปัจจุบันหากสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แลส่งออกไปยังยุโรป ผู้ประกอบการจะติดเงื่อนไขทางการค้า (CBAM) และไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ ดังนั้น NIA จึงร่วมกับ สวทช. บีคอน เวนเจอร์ กสิกรไทย และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องส่งเสริมสินค้าในกลุ่ม Energy Tech, Climate Tech

  • 5. การท่องเที่ยว (Tourism) ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สวยงาม และเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น”

ดร.กริชผกากล่าวเพิ่มว่า สตาร์ทอัพต้องการเงินจาก VC และ CVC เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปเป็นยูนิคอร์น ขณะที่ภาครัฐต้องช่วยหาตลาดและช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพในช่วงที่มีความเสี่ยงสูง จึงจะช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยในด้านการช่วยหาตลาด ดร.กริชผกาเผย 2 ตลาดใหญ่ที่สตาร์ทอัพไทยควรเข้าไปว่า

ด้านการเกษตรและอาหาร เป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพค่อนข้างสูง และเราก็มีเรื่องของเกษตรที่สามารถนำไปขายและสร้างมูลค่าให้มากขึ้นได้ โดยตลาดที่มีความต้องการมากคือ ตลาดแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ เทคโนโลยีที่เขามีนั้นต่ำกว่าของเรา จึงมีโอกาสอีกมาก อีกด้านคือ Health & Aging Society ทาง NIA จะช่วยขยายไปยัง ตลาดญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีด้านการแพทย์สูงอยู่แล้ว แต่มีความต้องการดีไวซ์ที่ราคาต่ำลงมา

และในด้าน Soft Power ดร.กริชผกาบอกว่า ในบริบทของ NIA คือ เทคโนโลยีด้าน Entertainament, Media Tech หรืองาน Craft ที่ทำได้สวยขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น หรือมีการใช้นวัตกรรมมากขึ้น เรียกว่า เป็นมิตินวัตกรรมที่มีการสร้างสรรค์ ซึ่งมีการสร้างมาตรฐานให้ตัวสินค้าเหล่านั้นเทียบเท่ามาตรฐานสากล และจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมาก โดยยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อาทิ นวัตกรรมการตรวจสอบมาตรฐานของต้มยำกุ้ง นวัตกรรมที่ทำให้ปลาร้าอยู่บนเชลฟ์ได้นานขึ้น 

สรุปภาพรวมตั้งแต่ 2016 ปีที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเริ่มก่อตัวขึ้น 

ดร.กริชผกา สรุปไทม์ไลน์ให้ฟังว่า แวดวงสตาร์ทอัพไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลากหลายด้าน ดังนี้

  • ปี 2017 ไทยเริ่มมีสตาร์ทอัพ และผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินประสบความสำเร็จในการลงทุนมูลค่าเกิน 6,000 ล้านบาท 

  • ปี 2018 มีจำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ราย มีบริษัทใหญ่ลงทุนในสตาร์ทอัพมูลค่าเกิน 30,000 ล้านบาท และการเพิ่มจำนวนหน่วยบ่มเพาะทั้งจากภาครัฐและเอกชน 

  • ปี 2019 มีการเสนอนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพและสตาร์ทอัพ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ Regulatory Sandbox สมาร์ทวีซ่า และร่างพระราชบัญญัติสตาร์ทอัพ 

  • ปี 2020 – 2022 มีการพัฒนาย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ ตอกย้ำให้กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองที่ดีที่สุดในเอเชียสำหรับสตาร์ทอัพ เกิดศูนย์บ่มเพาะใหม่ ๆ และผู้มีบทบาทในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สยามอินโนเวชั่นดิสทริค ทรูดิจิทัลพาร์ค ศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบประเทศไทย (TCDC) รวมถึงเกิดยูนิคอร์นขึ้น 2 ราย คือ Flash Express และ Ascend Money และมีมูลค่าการลงทุนในตลาดถึง 310.58 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ 

  • ปี 2023 ถือเป็นปีที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีสตาร์ทอัพมากกว่า 1,000 ราย และมียูนิคอร์นเกิดขึ้นใหม่ 1 ราย คือ LINE MAN Wongnai ที่มีมูลค่าการลงทุนในตลาดถึง 265 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ นอกจากนี้ ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยยังสามารถคว้าอันดับที่ 52 ของโลกในการจัดอันดับ Global Startup Ecosystem Index โดย Startupblink โดยมี 3 ประเด็นที่โดดเด่น ได้แก่ 1) การเพิ่มจำนวนของ University Holding Company หรือหน่วยธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสถาบันอุดมศึกษา 2) การเปลี่ยนแปลงสตาร์ทอัพในรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ DeepTech ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 65 บริษัท ในระยะเวลา 3 ปี และ 3) การที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านความยั่งยืน ถือเป็นโอกาสที่สตาร์ทอัพจะพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ 

นอกจากนี้ ดร.กริชผกากล่าวย้ำว่า NIA ยังมีแนวทางสนับสนุนสตาร์ทอัพอีกหลากหลายด้าน เช่น การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น โครงการ SMART VISA ที่ดำเนินการร่วมกับ BOI เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพ นักลงทุน และคนทำงานจากต่างประเทศให้เข้ามาพัฒนานวัตกรรมในประเทศมากขึ้น โดยแยกได้เป็น 2 แนวทางสำคัญ คือ 

  • การสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Financial Support) ที่ครอบคลุมมิติด้านความยั่งยืน ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก นวัตกรรมด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่ EV ซึ่งต้องการสตาร์ทอัพสาย Deep Tech 

  • การสนับสนุนที่นอกเหนือจากการเงิน (Non-Financial Support) เช่น การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก หรือ Global Startup Hub การพัฒนาสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องการลงทุนและการเชื่อมต่อตลาด” ดร.กริชผกากล่าวในตอนท้าย

9 ประเด็นอัปเดตเกี่ยวกับระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยและสิ่งที่จะได้เห็นในปีนี้

NIA

  1. ถ้านับเฉพาะสตาร์ทอัพที่มียอดขายดี พร้อมเติบโต ไทยมีสตาร์ทอัพอยู่ 191 ราย จากทั้งหมด 2,100 ราย ในขณะที่เวียดนามมีอยู่ 186 ราย และประเทศอื่นๆ ที่มีสตาร์ทอัพจำนวนมากมักอยู่ที่หลัก 2-3 พันราย 

  2. สตาร์ทอัพไทยเกิดใหม่ไม่น้อยแต่ตายเยอะ คือ เกิด-ดับ เกิด-ดับ ไวมาก แต่ 'ฟินเทค' เป็นสตาร์ทอัพที่อยู่มายาวนานและยังเป็น Rising Star ซึ่ง NIA เห็นแนวโน้มว่า จะมีการเติบโตไปเป็นยูนิคอร์น

  3. NIA เร่งผลักดัน พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ ให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพได้อย่างครบวงจร ช่วยลดความซ้ำซ้อนกันในเรื่องบูรณาการ อาทิ การจัดทำเอกสารทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

  4. ตัวอย่างสตาร์ทอัพไทยที่มีความพร้อมจะเติบโต เช่น MyCloud Fulfilment, QueQ, Freshket ขณะเดียวกันก็มี 3 VC ไทยประกาศตัวว่า รอลงทุนในสตาร์ทอัพ ได้แก่ Krungsri Finnovate, InnoSpace และ Beacon VC 

  5. LINE MAN Wongnai สตาร์อัพระดับยูนิคอร์นตัวที่ 3 ของไทย (ต่อจาก Flash Express และ Ascend Money) ต้องการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และกำลังขอคำปรึกษาจาก NIA ซึ่งถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เมื่อไหร่ จะถือเป็น Success Case รายแรกที่เติบโตจากการเป็นสตาร์ทอัพ

  6. NIA กำลังจัดทำ 'Unicorn Factory' โครงการปั้นสตาร์ทอัพให้เติบโตไปเป็นยูนิคอร์นโดยเฉพาะ ซึ่งเน้นที่กลไกการสร้างยูนิคอร์นด้วยการให้ VC เข้ามาจับคู่กับสตาร์ทอัพ และภาครัฐเข้ามาช่วยขยายตลาด

  7. ปีนี้จะมีการจัดงาน 'Soft Power Forum' โดย NIA เป็นแม่งานหลักร่วมกับอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ DITP, CEA และ TCEB ทั้งนี้ คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากพ้นช่วงสงกรานต์ไปแล้ว 

  8. มีสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยี AI มาขอทุนจาก NIA จำนวนมาก โดย NIA มีเงินลงทุนด้าน AI จำนวน 150 ล้านบาท และภายในปีนี้ เราอาจได้เห็นยูนิคอร์นแจ้งเกิดอีก 2 ตัว ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยี AI และ IoT 

  9. อัปเดตเกี่ยวกับกลไก Matching Fund - มีสตาร์ทอัพไทยที่กำลังคุยกับ VC รวม 5 คู่ที่เข้ามาขอรับทุนจาก NIA (VC และ NIA ให้ทุนฝั่งละ 10 ล้านบาทแก่สตาร์ทอัพ) อย่างที่เรารับรู้ไปแล้วว่า การสนับสนุนด้วยกลไก Matching Fund ทาง NIA จะไม่เข้าไปถือหุ้น และถ้าสตาร์ทอัพทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ NIA ก็จะได้เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 5% คล้ายกับการเป็นผู้ให้กู้

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

คนไทยไปญี่ปุ่น เตรียมสแกนจ่ายได้ ผ่านระบบ QR Code คาดเริ่มเมษาปีหน้า

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มพูดคุยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเปิดใช้งานบริการชำระเงินผ่าน QR Code ร่วมกัน ช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายสะดวกสบาย ไ...

Responsive image

Jitta ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าแก้วิกฤตการเงิน หนุนคนไทยออมและลงทุนอัตโนมัติ

Jitta เข้าสู่ปีที่ 12 เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า...