ESG Symposium 2023 : บิ๊กอีเวนต์รวมความพยายามและ Action ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลก | Techsauce

ESG Symposium 2023 : บิ๊กอีเวนต์รวมความพยายามและ Action ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลก

งาน ESG Symposium 2023 เวทีเสวนาความยั่งยืนระดับสากลที่จัดมากว่า 11 โดยปีนี้มาในหัวข้อ 'ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ' เป็นบิ๊กอีเวนต์ที่เอสซีจีภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญเรื่อง การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และ ESG (Environmental, Social, Governance) และมุ่งสร้างพลังเครือข่ายความร่วมมือที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการส่งต่อแนวคิดและเป็นแบบอย่างของการลงมือทำเชิงประจักษ์ (Action) ในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน

ในงาน ESG Symposium 2023 นายกฯ ชื่นชม 4 ข้อเสนอจากการระดมสมองภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

SCG ESG Symposium 2023งาน ESG Symposium 2023 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 เกิดจากความร่วมมือระหว่างหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเอสซีจี

ESG Symposium 2023 เกิดจากความร่วมมือระหว่างหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเอสซีจี โดยในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มาร่วมรับฟังข้อเสนอในการ 'ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ' จากการระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมกว่า 500 คน ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแยกได้ 4 แนวทาง ดังนี้

1) ร่วมสร้าง 'สระบุรีแซนด์บ็อกซ์' เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

เนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะมีระบบเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว และความเป็นเมืองที่ผสมผสานจึงสามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่างๆ ในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งร่วมบูรณาการโดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ หากประสบความสำเร็จจะเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่นๆ ได้ ปัจจุบันมีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว อาทิ 

  • การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป 
  • การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ 
  • การปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ชุมชน 
  • การร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

2) เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ 

ในประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ลงมือทำแล้ว คือ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง คือ กำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน การคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้าง Ecosystem สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย

3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด โดยเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) 

เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน ให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดและใช้พื้นที่ว่างเปล่ากักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ และผลักดันให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะจากชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง

SCG ESG Symposium 2023ครูอ้อ - อำพร วงค์ษา หญิงแกร่งที่เข้าร่วมใน 'โครงการพลังปัญญา' ของเอสซีจี แล้วนำความรู้มาต่อยอดเป็นหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ชุมชน ในจังหวัดลำพูน ช่วยให้คนในชุมชนที่ไม่มีงานทำ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง สร้างสรรค์และพัฒนางานฝีมือจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายได้ ช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองและเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตน

4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ 

เช่น SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน  โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต  นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้

หลังรับฟังการระดมสมอง นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กล่าวชื่นชมข้อเสนอดังกล่าว และเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะช่วยกู้โลกให้กลับมาดีขึ้น  สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยต้องมีแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้  

  • 1) มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน
  • 2) ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ
  • 3) ผลักดันความร่วมมือทุกระดับเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030


“ผมรู้สึกประทับใจมาก ที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพราะภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก และชื่นชมความตั้งใจสร้าง สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย  เพราะเป็นจังหวัดที่มีความท้าทายสูง มีอุตสาหกรรมใหญ่อยู่มาก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งมาตรการและเงินทุนจึงขอเชิญชวนภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมกัน เพราะหากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้เมืองและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป"

"การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ผมชื่นชมความมุ่งมั่นทั้ง 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลจะขยายผลความสำเร็จนี้ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีนเพื่อสร้าง Eco-system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต”

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากงาน SD/ESG Symposium ในระดับประเทศ คือ การผลักดันประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ ESG ให้เป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังขยายพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อน ESG ทั่วอาเซียน ผ่านการจัดงาน SD Symposium ในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ร่วมด้วย

คุณรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “คณะจัดงานขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และรับฟังข้อเสนอจากพวกเราทุกภาคส่วนในวันนี้  ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารงานของท่านที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งแนวนโยบายที่ชัดเจนของประเทศ จะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

คุณธรรมศักดิ์  เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีพร้อมนำแนวทางจากท่านนายกรัฐมนตรีไปผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤตโลกเดือด จึงมั่นใจว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอน เป็นจริงได้แน่นอน”

รวมความพยายามและการลงมือทำ (Action) ในการ 'ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ'

  • H.E. Pedro Zwahlen, Ambassador of the Swiss Confederation to Thailand

เปโดร ซวาห์เลน เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทยและ สปป.ลาว กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสวิสเซอร์แลนด์ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ว่าเป็นไปตาม มาตรา 6 ของ Paris Agreement หรือ ข้อตกลงปารีส เรื่องการเชิญชวนให้ภาคส่วนต่างๆ มาร่วมดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันโดยสมัครใจ และในขณะเดียวกันก็มีความทะเยอทะยานที่จะดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น

ไม่มีประเทศใดประเทศเดียวที่จะแก้ไขปัญหาโลกเดือดได้ 'ความร่วมมือระหว่างประเทศ' จึงเป็น Key Success สำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน สร้างสังคมคาร์บอนต่ำได้ สวิสเซอร์แลนด์จึงลงนามความร่วมมือ 11 ฉบับ โดยมีไทยเป็นพาร์ตเนอร์เพียงรายเดียวในเอเชีย ซึ่งมีแผนการดำเนินงานแบบจับต้องได้ในการลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 6.2 ที่เป็นการดำเนินการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ตามเป้า 

เปโดรกล่าวถึง Click - Work - Invest แนวทางดำเนินงานของทางสวิส โดย Click มาจาก Click Foundation โปรแกรมสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ที่ฝั่งสวิสให้ประเทศไทยใช้ตามเฟรมเวิร์ก สามารถขอคำปรึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยีตรวจจับคาร์บอนได้ รวมทั้งการใช้เร่งกระบวนการเพื่อคาร์บอนต่ำด้วยการซื้อ Green Technology มาใช้พัฒนาคุณภาพอากาศ สร้างงานสร้างอาชีพ นอกจากนี้ยังมีแพลนจะซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันในอนาคต

  • John O'Donnell, Chief Executive Officer, Rondo Energy

ในด้าน Green Energy จอห์น โอดอนเนลล์ ผู้ก่อตั้ง Rondo Energy สตาร์ทอัพสาย Deep Tech ที่พัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด เล่าว่าได้รับเงินลงทุนจาก CVC ระดับโลก 9 ราย อาทิ Breakthrough Energy, Aramco Ventures, Microsoft, SCG รวมมูลค่ามากกว่า 80 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้สำหรับเร่งกระบวนการกักเก็บคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม

จอห์นบอกมุมมองที่มีต่อประเทศไทยว่า ไทยเป็นประเทศผู้นำ ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และคาดว่าจะมีผลิตแบตเตอรี่พลังงานความร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของแบตเตอรี่ทั้งหมด

ด้านความร่วมมือ จอห์นเป็นพันธมิตรกับ SCG ในด้านการกักเก็บพลังงานสะอาดและมีต้นทุนต่ำ แม้การกักเก็บพลังงานสะอาดเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ควรทำ เพราะในขณะนี้ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการลงทุนในโซลาร์เซลล์และกังหันลมมีราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หากธุรกิจไหนไม่ทำเรื่องนี้ก็จะตกเทรนด์ หรือไม่ก็จะกลายเป็นผู้แพ้ (Loser) 

  • Roger Marchioni, Olefins & Polyolefins Director - Asia, Braskem

โรเจอร์ มาร์ชิโอนี ผู้อำนวยการฝ่ายโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟีนส์ เอเชีย จาก บราสเคม สตาร์ทอัพจากบราซิลที่ผลิตพลาสติกชีวภาพออกสู่ตลาดโลก กล่าวถึง 'เทคโนโลยี' ว่า เทคโนโลยีเป็นสะพานสำคัญที่ใช้เปลี่ยนผ่านไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งการที่บราสเคมพัฒนา Deep Tech ในการแปลง 'อ้อย' เป็นพลังงานสีเขียวได้ SCGC จึงร่วมลงทุนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่เพื่อผลิต เอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล ซึ่งมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี

โดย SCGC จะนำเอทิลีนชีวภาพที่ได้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิต เม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ และรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป และนำไปผลิตสินค้าได้อย่างหลากหลาย เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนบุคคล เครื่องใช้ในบ้าน ในชื่อแบรนด์ I’m green™ หรือ แอมกรีน 

  • Hiroki Nakajima, Executive Vice President of Toyota Motor Corporation & President of CJPT 

ฮิโรกิ นะกะจิมะ รองประธานบริหารโตโยต้า มอเตอร์ฯ และประธาน CJPT (Commercial Japan Partnership Technologies) กล่าวถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ SCG และเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนของบริษัท ผ่านการทำธุรกิจ Green Logistics โดยโตโยต้าพัฒนารถประหยัดพลังงานสำหรับรับ-ส่งพนักงาน รถบรรทุกไฟฟ้าสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ รถผสมปูน รถขุดเจาะ รถยก ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ให้แก่ SCG นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายแบรนด์ชั้นนำภายใต้ CJPT ที่อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน อาทิ ฮีโน่ อีซูซุ ซูซูกิ ไดฮัตสุ 

ปิดท้ายด้วยการเล่ากรณีศึกษาเกี่ยวกับโลจิสติกส์หลากหลายเคส เช่น Fukushima Project ที่มีการใช้รถพลังงานไฮโดรเจนขนส่งสินค้าจากคลังไปยังร้านสะดวกซื้อ และยังมีการติดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนตามจุดต่างๆ ภายในเมืองที่มีประชากรอยู่ 300,000 คน

  • Prof.Dr. Qigong Xu, Chinese Research Academy of Environmental Sciences (CRAES) 

ศ.ดร.ฉีกง ซู่ จาก ศูนย์วิจัยจีนในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (CRAES) กล่าวถึงจีนว่ามีการปล่อยคาร์บอนมากราว 1 ใน 3 ของโลก ณ ปี 2020 นำมาสู่การดำเนินงานอย่างเข้มข้นในภาคปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนผ่านเมืองสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการทำให้เมืองเป็นเมืองสีเขียว อาทิ การใช้เทคโนโลยีคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละพื้นที่ การใช้เครื่องมือตรวจจับมลภาวะ เช่น ฝุ่นควัน ฝุ่น PM2.5 ในเมืองต่างๆ โดยยกตัวอย่าง เมืองปักกิ่ง (Beijing) ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างหนักในปี 2013 จนทำให้ชาวจีนเกิดความวิตกกังวลและแพนิกอย่างมาก

ทั้งยังแบ่งการจัดการสภาพแวดล้อมออกเป็นหลายระดับ อาทิ ระดับภูมิภาค (Regions) ระดับเมือง (Cities) ระดับสวนอุตสาหกรรม (Industrial Parks) และระดับองค์กรขนาดใหญ่ (Enterprises) จีนยังมีการทำ ตลาดซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading Market) สอดคล้องกับเรื่อง ESG และไม่ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจีนจะมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม การปล่อยคาร์บอนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรืออื่นใด วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น

  • Prof. Luo Zhigang, Senior Engineer, Chinese Academy of Sciences (CAS) 

ศาสตราจารย์หลัว จื้อกัง วิศวกรอาวุโส จาก CAS กล่าวถึงระบบคำนวณการปล่อยคาร์บอนที่จีนพัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถแปลงปริมาณการปล่อยคาร์บอนเป็น 'ภาษาทางการเงิน' เพื่อให้สถาบันการเงินนำข้อมูลไปใช้ต่อได้สะดวก 

  • Dr.Dino Patti Djalal, Founder of Foreign Policy Community of Indonesla (FPCI)

ดร.ดิโน แพตติ จาลาล ผู้ก่อตั้ง Foreign Policy Community of Indonesla (FPCI) ชี้ให้เห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยความรุนแรงที่มากกว่าภาวะโลกร้อนที่ต้องตระหนัก คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เปรียบได้กับ 'แม่ของทุกๆ ปัญหา' ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด สิ่งแวดล้อม การเกษตร อุตสาหกรรม ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเมืองการปกครอง ความขัดแย้งในสังคม โครงสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรม เรียกได้ว่า ทุกๆ อย่างบนโลก และหากเรายังทำตามแผนเดิม โลกจะไม่ได้ร้อนขึ้น 2 องศา แต่จะเพิ่มเป็น 3.2 องศา รวมถึงปะการังที่จะตายมากถึง 99% หากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศา

นอกจากนั้น ดร.ดิโนยังเล่าถึงปัญหาของเมืองจาการ์ตาที่คาดว่าจะกลายเป็นเมืองจมน้ำ นำไปสู่การเลือก Nusantara เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย โดย Nusantara มีพื้นที่ 256,000 เฮกตาร์ เป็นพื้นที่ป่าถึง 75% และพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย 25% 

  • รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

คุณรณดล รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในหัวข้อ Thailand Taxonomy โดยเริ่มอธิบายจาก ESG In Action ว่าเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการทุกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ 'ธุรกิจสีเขียว' ได้สำเร็จ โดยไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป 

สำหรับชื่อ Thailand Taxonomy เป็นมาตรการทางภาษีของไทยที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส โดยเป็นการจัดประเภทธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนให้เข้ากับการจัดเก็บภาษี ซึ่งในบริบทของประเทศไทย สีเขียว (Green) หมายถึง ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีแผนชัดเจนที่จะไปสู่ Net Zero Emission สีเหลือง (Amber) หมายถึง ธุรกิจไฮบริดที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากสีแดงสู่สีเขียว และ สีแดง (Red) หมายถึง ธุรกิจที่ยังไม่มีแผนลดการปล่อยคาร์บอนหรือต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยธุรกิจที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีแดงจะต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงที่สุด

  • ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ดร.ชัชชาติกล่าวถึงแผนงานและผลการดำเนินงานที่มุ่งพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ระบบขนส่งมวลชนที่ทยอยเปลี่ยนจากรถเมล์เป็นรถบัสไฟฟ้า การบริหารจัดการขยะด้วยการแยกขยะ นำขยะไปรีไซเคิล ร่วมกับการปลูกจิตสำนึกเรื่องการทิ้งขยะถูกประเภท ช่วยให้ปริมาณขยะลดลงได้จริง 

ในด้านแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กทม. ผู้ว่าฯ กทม.ให้ข้อมูลว่า ในปี 2018 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรุงเทพฯ 43.73 ล้านตัน และหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ปี 2030 จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรุงเทพฯ ราว 53.93 ล้านตัน

สำหรับเป้าหมายภายในปี 2030 กรุงเทพฯ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 19% และภายในปี 2050 จะต้องไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีก พร้อมกันนี้ ดร.ชัชชาติเผย 4 กุญแจสำคัญที่จะช่วยทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ยิ่งขึ้น ลดการปล่อยคาร์บอนในกรุงเทพฯ ลง และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้จริง ดังนี้

  1. Technology - การใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิต
  2. Transparency  - การทำงานด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ 
  3. Collaboration - ความร่วมมือร่วมแรงเป็นสิ่งสำคัญมาก 
  4. Social Contract - การใช้บรรทัดฐานทางสังคมและกฎในการควบคุมระบบและสร้างความร่วมมือกันตั้งแต่ระดับครอบครัว

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

คนไทยไปญี่ปุ่น เตรียมสแกนจ่ายได้ ผ่านระบบ QR Code คาดเริ่มเมษาปีหน้า

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มพูดคุยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเปิดใช้งานบริการชำระเงินผ่าน QR Code ร่วมกัน ช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายสะดวกสบาย ไ...

Responsive image

Jitta ก้าวสู่ปีที่ 12 เดินหน้าแก้วิกฤตการเงิน หนุนคนไทยออมและลงทุนอัตโนมัติ

Jitta เข้าสู่ปีที่ 12 เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า...