ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เปิดเผยว่า ปี 2564 depa จะสานต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยการยกระดับกำลังคนผ่านการให้ความรู้ด้านดิจิทัลบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยจะได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ นักเรียนจาก 80 โรงเรียนสามารถเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งบนแพลตฟอร์มใหม่ อีกทั้งเสริมทักษะดิจิทัลแก่นักเรียนอาชีวศึกษา รวมถึงความรู้ด้านข้อมูล (Data) แก่เยาวชนและนักศึกษา โดยคาดว่า กระบวนการต่าง ๆ จะสามารถพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลได้มากกว่า 12,000 คน
พร้อมกันนี้ depa จะดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งระยะเริ่มต้นและระยะเติบโต รวม 70 ราย ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 5,000 ล้านบาท ก่อนนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านชุมชน เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เอสเอ็มอี หาบเร่ แผงลอย ตลาดสด อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และภาคเกษตรกรรมด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะช่วยให้คนไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่า 70,000 คน
จากนั้นจะขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 3 ด้าน ใน 8 พื้นที่นำร่อง ซึ่งประเมินว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนรัฐร่วมเอกชนราว 130 ล้านบาท ขณะที่ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 100,000 คน แบ่งเป็น Smart Economy โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City Data Platform) ไม่น้อยกว่า 30 พื้นที่ สร้าง Smart City Ambassador ใน 30 พื้นที่ พร้อมพัฒนาการท่องเที่ยววิถีใหม่ในจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ชลบุรี อุดรธานี และพื้นที่ส่วนกลาง Smart Mobility โดยการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และระบบการแก้ไขปัญหาการขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพมหานคร และ Smart Living โดยการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินในจังหวัดขอนแก่น
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า depa พร้อมบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ (AI University) รองรับเทคโนโลยีเอไอ และกระตุ้นให้เกิดวิชาชีพใหม่ผ่านการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอากาศยานไร้คนขับ (Drone University) จัดงานแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชื่อ Digital Station: Siam Square สร้างมาตรฐาน dSURE เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการรับรองมาตรฐานโดยสมัครใจของผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการค้นหาเทคโนโลยี (Technology Hunting Platform) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน เป็นธรรม และทั่วถึง
“สำหรับปี 2565 depa จะดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “ทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก” โดยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล พร้อมเร่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคเศรษฐกิจจริงผ่านกลไกการขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายผ่านแพลตฟอร์มส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ทั้งการดึงดูด Venture Capitals การสร้าง Angel Investors และกระบวนการขยายตลาดสู่ระดับสากล” ดร.ณัฐพล กล่าว
พร้อมกันนี้ depa จะดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้วย Accelerate Program การสร้าง Incubation Center และ Consultation Center อีกทั้งบ่มเพาะให้เกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลผ่าน 5G Application Lab, Software Convergence Center, Hardware and Smart Devices Lab, AR/VR/MR Lab, IoT Innovation Center และ Cloud Innovation Center รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดต้นแบบนวัตกรรมผ่าน Maker Space
นอกจากนี้ depa จะเปลี่ยนผ่านร้านค้า ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชุมชนด้วยการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านการจับคู่กับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลด้วยการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะทั้ง 77 จังหวัด
ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้ายว่า depa จะทำงานเพื่ออนาคตของคนไทย และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลกผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและภาคประชาชน พร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปี 2565 depa จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้จีดีพีของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลไทยขยายตัวเฉลี่ย 1%
Sign in to read unlimited free articles