กรณีศึกษา CPANEL : ทำอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีเดิมในท้องตลาด ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ไม่มากพอ ? | Techsauce

กรณีศึกษา CPANEL : ทำอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีเดิมในท้องตลาด ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ไม่มากพอ ?

เรื่องเล่า Corporate Innovation บทความนี้เป็น Case Study ของธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์  จากคุณชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ซึ่งก่อนหน้านี้ Techsauce เคยได้มีโอกาสสัมภาษณ์และนำเสนอแนวคิดในการก่อตั้งธุรกิจด้วยกลยุทธ์การหา  Blue Ocean ในท้องตลาดต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมเพื่อการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใหม่ได้ 

ในครั้งนี้เรามีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับการค้นหานวัตกรรมในอุตสาหกรรมหนัก รูปแบบของ Manufacturing ที่ได้ปรับมาเป็น Smart Manufacturing ที่รันด้วยระบบ automate ทั้งหมดแต่เมื่อได้ทำความเข้าใจ และจับ Insight ลูกค้าได้แล้วนั้น ปรากฎว่าการลงทุนในเทคโนโลยีแบบเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาด กลับตอบโจทย์ความต้องการของทั้งองค์กรเอง และลูกค้าได้ไม่มากพอ ดังนั้น CPANEL จึงไม่ได้ลงทุนแค่เทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน คือ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาไปพร้อมกันด้วย  

หากใครที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าทั้งสองอุตสาหกรรมนี้จะเป็นห่วงโซ่อุปทานของกันและกัน และในปัจจุบันในหมวดของ Supplier เราจะเริ่มคุ้นเคยกับ Precast หรือผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ที่ในระยะหลังได้เข้ามามีบทบาทในการเป็น Disruptor ในแง่ของขั้นตอนและกระบวนการในการก่อสร้าง โดยไม่กี่ปีมานี้เทรนด์การก่อสร้างบ้านด้วย Precast ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีผู้ผลิต Precast รายเล็กจนถึงรายใหญ่มากมายกว่า 20 โรงงาน ทั้งแบบ manual โดยการใช้คนหล่อคอนกรีต และแบบ Automatic ที่ใช้เครื่องจักรหุ่นยนต์ แต่ก็มีกระแสความเชื่อในทางลบออกมาหลากหลายรูปแบบ(เพราะมีผู้เล่นหลายรายที่ไม่ได้มาตรฐาน) ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อเรื่องผนังร้าว น้ำซึม รอยรั่วต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดจากการติดตั้ง ความไม่เชื่อมั่นเหล่านี้ทำให้ Precast อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองขณะเดียวกันก็เปิดช่องว่างให้ผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาพัฒนาและยกระดับ Precast เพื่อให้ตอบโจทย์การก่อสร้างมากขึ้น

CPANEL

คุณชาคริต เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ว่า เดิมตนอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่แล้ว และเห็นสัญญาณหนึ่งคือการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจก่อสร้างและอัตราการว่างงานแอบแฝงที่ค่อนข้างสูง เพราะแรงงานไทยไม่ได้อยากทำงานก่อสร้างหน้างาน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแทนที่ และแม้ว่าจะมีแรงงานต่างชาติยินดีทำ ค่าแรงก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คุณภาพแรงงานกลับต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งเรามีความคิดที่จะปิดช่องว่างตรงนั้น ประกอบกับมีโอกาสไปเจอเทคโนโลยี Precast ซึ่งมีมานานแล้วในไทย เพียงแต่ในเวลานั้น เทคโนโลยีการผลิตไทยค่อนข้างต่ำ คุณภาพยังไม่ดี และไม่มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย และได้ใช้เวลาศึกษาประมาณ 4 ปี และใช้เวลาอีก 2 ปีในการพัฒนาซอฟแวร์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จนได้มาเป็นการผลิต Precast ด้วยระบบหุ่นยนต์ ที่มีแค่ CPANEL เท่านั้น

Precast ของ CPANEL ผลิตด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automatic ของ Vollert Anlagenbau Gmbh ประเทศเยอรมันนี ที่ทันสมัยและได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งตัวเครื่องจักรเองมีศักยภาพภาพอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างระหว่างการออกแบบ การผลิต และการทำงานหน้างาน ดังนั้นตนจึงได้ใช้เวลา 2 ปีในการนำดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์เก่งๆ มาช่วยกันพัฒนาให้ทุกอย่างมารวมให้อยู่ในซอฟแวร์เดียวกัน   ทำให้ขั้นตอนการผลิตแม่นยำปราศจาก Human Error เพราะใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเกือบทั้งหมด และดูแลการผลิตอย่างเข้มงวดจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในทุกขั้นตอน โดยมีเป้าหมายที่ทำให้ระยะเวลาการพัฒนาสินค้าของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สู่ตลาดนั้นสั้นที่สุด ในต้นทุนที่ดีที่สุด และเพื่อให้บ้านที่มีคุณภาพที่สุด 

CPANEL

สมัยก่อนลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ จะเข้าใจว่า Precast มีกระบวนการที่ยาก ใช้เวลาอย่างน้อย 8 เดือน กว่าจะได้บ้านหลังแรก หลังจากที่ผมเปิดโรงงานมา ลูกค้ารายแรกๆ ใช้เวลาแค่ 90 วัน ตอนนี้เหลือ     45-60 วัน และที่เคยทำให้เร็วที่สุดอยู่ที่ 25 วัน หลังจบราคา(แบบที่ไม่เคยมีการสร้างบ้านแบบนั้นๆเลย) ลูกค้าก็มีโครงสร้างบ้านหลังแรกพร้อมทำงานระบบ และงานสถาปัตย์แล้ว ยังไม่นับว่าหากมีการก่อสร้างต่อเนื่อง เฉพาะโครงสร้างบ้านลูกค้าสามารถลดเวลาในส่วนโครงสร้างบ้านได้ถึง 80%

นอกจากความรวดเร็วแล้วยังสามารถลดแรงงานได้ประมาณ 90%  คือถ้าจะผลิตบ้าน 2 ชั้นให้ได้ 300 หลัง เฉพาะในส่วนของงานโครงสร้างการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูน (conventional) ใช้คนประมาณ 1,000 คน ระยะเวลาก่อสร้าง 60 วัน/หลัง Precast แบบ manual ใช้คนประมาณ 700 คน ผลิตไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ระยะเวลาติดตั้ง 10 วัน/หลัง Precast แบบ Automatic ใช้คนประมาณ 100-200 คน ผลิตไม่เกิน 24 ชั่วโมง ระยะเวลาติดตั้ง 7 วัน/หลัง

นวัตกรรมใหม่ จะตีตลาดได้ ความเชื่อใจและความเชื่อมั่น คือ สิ่งสำคัญ 

สำหรับ Precast เดิมทีถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แน่นอนว่ามากับการรับรู้เชิงลบ  เพราะมันเข้ามา Disrupt กระบวนการก่อสร้างแบบดั้งเดิม แต่จะทำอย่างไร ให้นวัตกรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่นวัตกรรม ที่ลูกค้ามองว่าเป็นของใหม่ แต่เป็นสินค้าที่พวกเขาสามารถใช้ได้เป็นปกติ และรู้สึกว่าง่าย สะดวก รวมถึงแก้ Pain Point ที่เขาต้องเจอได้  

คุณชาคริต เล่าในส่วนนี้ว่า ความเชื่อใจและเชื่อมั่นจากลูกค้า คือ สิ่งสำคัญ เราต้องไม่เหนื่อยและท้อที่จะอธิบาย และทำความเข้าใจกับลูกค้า ทำอย่างไรให้เขาเห็นภาพเดียวกับเรา ดังนั้นเมื่อสามารถทำตรงนี้แล้วผลลัพธ์ที่ตามมา คือ     ลูกค้าไว้วางใจ ซึ่งเมื่อก่อนความเชื่อใจในระดับนี้ยังน้อย ปัจจุบันลูกค้าของ CPANEL หลายแห่งปฏิบัติกับเราเหมือนเราคือหนึ่งในทีมเค้าแล้ว ทีม CPANEL จะนั่งทำงานคู่กับทีมออกแบบของลูกค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนตั้งแต่เริ่มคิดโปรเจค 

อีกเรื่องคือลักษณะการสั่งซื้อของลูกค้า ส่วนใหญ่เลือก CPANEL อยู่แล้ว แต่ก็มีบางรายที่ลูกค้าต้องซื้อของเจ้าอื่นด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะไม่อยากผูกขาดไว้กับรายเดียว ซึ่ง CPANEL เป็น Supplier รายแรกที่ลูกค้าไว้วางใจเลือกใช้ เราขอให้เราได้นั่งในตำแหน่ง Preferred Partner

ในส่วน CPANEL เอง เราควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ  ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่อยๆลดลงมาทุกปี ตั้งแต่เปิดบริษัทมา ผมพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ตลอดเวลา เพื่อให้ต้นทุนลดลงหรือทำงานได้เร็วขึ้น ปัจจุบันจุดคุ้มทุนของ CPANEL ต่ำลงกว่าตอนที่ทำช่วงปีแรกๆ ในขณะที่เงินเดือนพนักงานเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ

CPANEL

“การก่อสร้างบ้านด้วย Precast นั้น ผมเห็นแบบบ้านมาเกือบทุกรูปแบบ และทุกการออกแบบจะมีจุดอ่อนเสมอ ผมสามารถบอกได้เลยว่า แบบไหนทำได้หรือทำไม่ได้ หรือต้องแก้จุดอ่อนยังไง Pain point อีกเรื่องหนึ่งคืองานก่อสร้างมักมีปัญหาเสมอ ไม่ว่าจะเกิดจากใครก็แล้วแต่ ด้วยประสบการณ์ของ CPANEL เรามีการนำเสนอโซลูชั่น ซับพอร์ตลูกค้าเพื่อให้งานของลูกค้าลุล่วง เรามองความสำเร็จของลูกค้าเป็นความสำเร็จของเราด้วย”

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่หลายคนมักจะบอกว่ามันมักจะมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ดังนั้นทุกธุรกิจเมื่อมีจังหวะขายคือต้องได้ขาย และในขณะเดียวกันต้องรักษาเงินสด ดังนั้นต้องมีสต็อกแค่ที่จำเป็นเท่านั้น ผู้พัฒนาอสังหาฯ ในยุคปัจจุบันจึงเน้นความรวดเร็ว เพื่อให้มีเวลาทำการตลาดมากขึ้น และรับรู้รายได้เร็ว  เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดทุกอย่างจบที่เรื่องเงิน ทุกบริษัทก็พยายามบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ซึ่งสำหรับผู้พัฒนาอสังหาฯ วิธีที่จะทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากที่สุด คือทำให้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นคิดโครงการ จนถึงเปิดขายให้น้อยที่สุด มีสต็อกให้น้อยที่สุด แต่ก่อสร้างและส่งมอบให้เร็วที่สุด 

Precast จึงเป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์งานก่อสร้างในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเป็น New Normal ของอุตสาหกรรมเลยก็ได้ ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ลดต้นทุนการก่อสร้าง สามารถควบคุมคุณภาพการก่อสร้างได้ดีกว่า อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า Precast จะเข้ามาแทนที่กำแพงก่ออิฐฉาบปูนเสาคานเกือบหมดแน่นอน เหตุผลเพราะว่ารวดเร็วกว่า และลงไปแทนงานที่คนที่ไม่อยากทำงานก่อสร้างหน้างาน ที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่ต้องการสิ่งที่ดีขึ้น เร็วขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเป็นพฤติกรรมของลูกค้าในปัจุบัน ซึ่ง Precast ตอบโจทย์เรื่องนี้ชัดเจน อีกเรื่องนึงคือลูกค้าในโลกดิจิทัล มีการเปรียบเทียบสินค้าเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีทางไม่ยอมจ่ายแพงกว่าหรือแย่กว่าแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้า CPANEL ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านแล้ว (set up myself to the next generation)”


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...

Responsive image

Tech talent คืออะไร ทำไมองค์กรถึงต้องการตัวมากขึ้นในทุกๆ ปี

Tech Talent คือ คนหรือกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ และทักษะทางเทคโนโลยีในการสร้าง และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางดิจิทัล ซึ่งมีความสามารถที่จะทำงานกับเทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เ...