Community Mall แห่งมืองอุดรฯ ในมือทายาทรุ่นสอง | Techsauce

Community Mall แห่งมืองอุดรฯ ในมือทายาทรุ่นสอง

Community Mall (Lifestyle Mall) ที่นักช็อปในถิ่นอีสานต่างรู้จักอย่าง UD Town ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานอย่างเต็มตัวของทายาทรุ่นสองวัย 26 ปี อภิชา วีรชาติยานุกูล ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด ผู้ซึ่งปรับใช้วิชา Visual merchandising ที่ร่ำเรียน มาสอดผสานกับทฤษฎีการตลาดจนสร้างชื่อเสียงและการเติบโตให้ศูนย์การค้าของครอบครัว ที่เดินหน้าตอบรับสถานะ MICE City ทั้งการเปิดศูนย์แสดงสินค้า และเติมเต็มให้ครบภาพด้วยธุรกิจโรงแรม

อภิชาผู้เป็นลูกสาวคนโต เล่าย้อนไปถึงอดีตก่อนมาเป็นธุรกิจ Community Mall (ศูนย์การค้าชุมชนหรือเรียกอีกอย่างว่า Lifestyle Mall) ดังเช่นปัจจุบันว่า รากฐานดั้งเดิมของธุรกิจครอบครัววีรชาติยานุกูลคือกิจการแปรรูปมันสำปะหลังและโรงสีข้าวตั้งแต่รุ่นปู่ย่า

กระทั่งเผชิญกับวิกฤติที่โรงงานมันสำปะหลังเกิดไฟไหม้ขึ้น ทำให้เมื่อ 12 ปีก่อน ธนกร วีรชาติยานุกูล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุดรพลาซ่า ฯ จึงเริ่มเห็นช่องทางลงทุนธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม จึงเลือกทำธุรกิจตัวแทนผู้จำหน่ายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเวิลด์โฟน (ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เวิลด์โฟน 1800 ที่บริหารโดยบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิ เคชั่น จำกัด) ในภาคอีสานทั้งหมด

ทั้งนี้จากประสบการณ์ในฐานะที่เคยทำเครือข่ายร้านโทรศัพท์มือถือซึ่งตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้ามาก่อน และจากที่ได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ ทำให้ธนกรได้พบเห็นศูนย์การค้าในรูปแบบ Community Mall จึงเกิดแนวคิดที่จะทำกิจการขึ้นบนพื้นที่ 25 ไร่ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นตั้งของห้าง UD Town ในปัจจุบัน เมื่อ 10 ปีก่อนจึงตัดสินใจลงทุนสร้างกิจการใหม่ของครอบครัวขึ้น

ศูนย์การค้า UD Town มีโครงสร้างเป็น Open-air Mall ที่จัดสรรพื้นที่ 13,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ให้เป็นศูนย์รวมร้านค้าแบรนด์ดังแบบแฟลกชิปสโตร์ (Flagship Stores) กว่า 90 ร้านค้า และเทสโก้ โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต (TESCO LOTUS Supermarket) ขนาด 2,000 ตร.ม. ขณะที่อีก10,000 ตร.ม. เป็นในส่วนของยูดี บาซาร์ (UD Bazaar) ไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ต สำหรับร้านค้าจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่กว่า 200 ร้านค้า และยังจัดสรรพื้นที่กว่า 15,000 ตร.ม. ให้เป็นพื้นที่ สีเขียวและลานจอดรถ นอกจากนี้ยังมี ยูดี ฮอลล์ (UD Hall) ให้เป็นเอ็กซิบิชั่นฮอลล์ขนาด 1,700 ตร.ม. ที่สามารถรองรับการจัดงานแสดงสินค้า เอ็กซิบิชั่น หรือ กิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ

ถือว่าเราผันตัวเองจากผู้เช่าในห้างมาเป็นผู้ให้เช่าแทน

Community-Mall-UD Town

ฝึกฝีมือปั้น Community Mall

อภิชาเล่าว่าแม้พ่อแม่ไม่ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าลูก ๆ ทั้ง 2 คนต้องมารับช่วงกิจการของครอบครัวเมื่อโตขึ้นก็ตาม แต่ช่วงวัยเด็กเธอไม่เคยได้ใช้เวลาว่างกับการไปเรียนพิเศษช่วงปิดเทอม เพราะถูกฝึกหัดให้ทดลองทำงานทุกอย่างเช่นเดียวกับพนักงานของร้านโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการไปแจกใบปลิวโฆษณา ขายสินค้า หรือแม้แต่การรับเปิด air time ก็ตาม

"ตอนนั้นก็ไม่ได้ชอบทำงาน เพราะด้วยความเป็นเด็กเราก็ต้องการพักผ่อน แต่เมื่อมองย้อนกลับไปก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่ถูกปลูกฝังให้รู้จักทำงาน ให้กล้าแสดงออก ไม่อายที่จะขายของ"

กระทั่งเมื่อครอบครัวเริ่มทำศูนย์การค้า UD Town เธอเองก็ถูกฝึกทำธุรกิจเล็ก ๆ เช่น นำสินค้าจากสำเพ็งมาขาย เพื่อเป็นการเปิดตลาดให้เป็นแนวทางแก่พ่อค้าแม่ค้าอื่น ๆ ได้เห็นโอกาสประหนึ่งเป็น case study อย่างไรก็ตาม อภิชาเริ่มมีภารกิจช่วยกิจการของครอบครัวอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2558 หลังกลับจากเรียนจบปริญญาตรีด้าน Fashion Branding and Merchandising จาก London College of Fashion (LCF) และผ่านการฝึกงานบริษัท คอนทัวร์ จำกัด ได้ราว 1 ปี

ด้วยความรู้ด้าน Visual merchandising (การตกแต่งหน้าร้านด้วยการผสมกันของศาสตร์และศิลป์ โดยนำเสนอหน้าร้านผ่านทั้งทางดีไซน์ สีสัน เสียงเพลง ไปจนถึงการเลือกวัสดุตกแต่งให้ดึงดูดใจลูกค้า) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เธอได้ร่ำเรียนมาถือเป็นทักษะที่อภิชาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจศูนย์การค้าได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดตกแต่งหน้าร้านที่ช่วยกระตุ้นให้คนอยากมาเดินและซื้อสินค้าในศูนย์การค้าของเราได้

LCF จะเน้นด้านธุรกิจมากว่า Central Saint Martins ซึ่ง Visual merchandising จะเป็นการสอนว่าทำอย่างไรให้คนเห็นแล้วอยากมาเดินและมาซื้อของ จึงเกี่ยวกันโดยตรงกับการทำห้าง

สำหรับภารกิจแรก ๆ ที่อภิชาได้รับมอบหมายคือการทำเรื่อง Event Marketing เช่นการจัดงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาเดินที่ UD Town ซึ่งเมื่อคนมาแล้วก็จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ตามมา

จนปัจจุบันที่เธอรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปีนี้ แต่บทบาทหลักในบริหารกิจการก็ยังคงเน้นในเรื่อง Event Marketing อยู่ โดยมีโจทย์ที่ต้องสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่หรือที่แตกต่างจากเดิมอยู่เสมอ ด้วยแนวทางของ UD Town ที่เน้นการจัดงานและกิจกรรม เช่น งาน Halloween งาน Christmas งานสงกรานต์ เป็นตัวขับเคลื่อนที่จะดึงคนให้มาที่ศูนย์การค้าเป็นหลัก ไม่ได้ให้น้ำหนักกับกลยุทธ์ Hard sale

passion ในการทำธุรกิจของเราอยู่ที่ความขยันและการติดตามงาน

ในส่วนแผนงานของ UD Town ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อภิชา เลือกที่จะเน้นกิจกรรมด้าน CSR เช่น กิจกรรมวิ่งมาราธอนที่ร่วมกับตูน อาทิวราห์ คงมาลัย รวมถึงงาน Halloween ที่ถือว่าได้รับความนิยมสูงมากจนตั้งจัดถึง 4 วันติดกัน

ส่วนแผนงานระยายาวนั้น เธอต้องการให้ UD Town สร้างการรวมตัวของชุมชนใหม่ ๆ เพื่อดึงกลุ่มเด็กวัยรุ่นและเยาวชนเข้ามาในศูนย์การค้ามากขึ้น พร้อมกับที่จัดกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น เพื่อคืนความสุขให้กับคนในชุมชนมากขึ้น อีกทั้งคาดว่าจะมีการปรับปรุงพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น เสริมสร้างให้ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามจากคำพูดที่เคยมีคนกล่าวว่า หากกิจการดำเนินมาได้ 10 ปีแล้วจะเริ่มถดถอยลง จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของทายาทรุ่นสองอย่างเธอและพี่น้องว่าจะทำอย่างไรให้กิจการศูนย์การค้าที่พ่อแม่สร้างมายังดำเนินอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งและได้รับนิยมจากผู้คนในชุมชนได้เช่นเดิม แม้จะมีคู่แข่งยักษ์ใหญ่เข้ามาแข่งขันด้วย ซึ่งเธอมองว่าเป็นการเข้ามาช่วยกันสร้างสีสันให้กับธุรกิจมากกว่าจะมาช่วงชิงตลาด

แม้ปีนี้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่รายได้ของ UD Town ก็ยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี มีพื้นที่เช่าอยู่ถึง 98% และยังมีผู้ค้าใหม่ ๆ กำลังเซ็นสัญญาเข้ามาอีก

กระนั้นจากความสำเร็จที่รุ่นพ่อแม่สร้างไว้ ทำให้อภิชายอมรับว่าเป็นแรงกดดันและเป็นความท้าทายที่สุดอย่างมากสำหรับเธอ โดยเฉพาะการที่ต้องยกระดับสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม รวมถึงต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ตลอดจนต้องติดตามโลกตลอดเวลา

“คุณพ่อคุณแม่ยังเป็นกุนซือให้อยู่ในบางเรื่องที่ยังไม่เคยทำ แต่ก็เรื่องที่เคยทำเป็นประจำอยู่แล้วท่านปล่อยมือให้เรารับผิดชอบเองอย่างเต็มตัว”

บทเรียนจากประสบการณ์บริหารธุรกิจที่ผ่านมาในแง่ของการที่เป็นทายาทเจ้าของกิจการและเป็นคำสอนที่พ่อแม่เน้นย้ำอยู่เสมอคือ การลงมือทำเท่านั้นที่จะช่วยให้ทุกงานสำเร็จได้ โดยอภิชามองว่า การวางตัวให้ลูกน้องเชื่อฟังและยอมรับในตัวเธอ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพิสูจน์ฝีมือให้เห็นด้วยการลงมือทำจริงในทุก ๆ งานไม่ใช่เพียงแค่สั่งด้วยปาก

พร้อมยืนยันว่า “การเป็นลูกเจ้าของกิจการแล้วแค่ลอยอยู่บนฟ้า ไม่มีทางประสบความสำเร็จแน่นอน”

Community-Mall-UD Town

เสริมแกร่ง MICE City

นอกจาก UD Town แล้วล่าสุดครอบครัววีรชาติยานุกูลยังเสริมศักยภาพในธุรกิจ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ด้วยการเปิดศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่มอบหมายให้ลูกชายคนที่สองคือ ภาสกร วีรชาติยานุกูล ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ศูนย์ประชุมนานาชาติ มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ดูแลกิจการ

เนื่องจากมองว่าพื้นที่ภาคอีสานมีความต้องการใช้บริการศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้าระดับค่อนข้างสูง จึงน่าจะมีแนวโน้มขยายตัววได้ดีและมีโอกาสทางธุรกิจที่สดใสด้วย

โดย มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ใช้งบประมาณก่อสร้างถึง 800 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ด้วยพื้นที่ใช้สอยกว่า 25,000 ตร.ม. ที่จอดรถทั้งภายในและภายนอกอาคารกว่า 1,000 คัน และพื้นที่จัดงาน 5 ส่วนที่สามารถเปิดถึงกันได้

ทั้งนี้สามารถแบ่งสัดส่วนการจัดงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การจัดนิทรรศการและแสดงสินค้า (Exhibition) 10 % งานแต่งงาน (Wedding) 25 % และการประชุมสัมมนา (Meeting & Intensive) 65% พร้อมมีพื้นที่พรีฟังก์ชัน (Pre Function) และสวนสไตล์โคโลเนียลให้เลือกใช้งานได้ในหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ทางครอบครัวตั้งเป้าหมายรายได้ของมลฑาทิพย์ ฮอลล์ ในครึ่งหลังของปีนี้ไว้ที่ 40 ล้านบาท ด้วยจำนวนงานที่จองเข้ามาล่วงหน้าแล้วกว่า 40% ขณะที่รายได้ในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งจะให้บริการเต็มปีคาดว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งยังมีการจัด Own Event ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และเชื่อว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี

แตกยอดเพิ่มโรงแรม

นอกจากโครงการล่าสุดคือ ศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ที่เพิ่งเปิดตัวไป ผู้ก่อตั้ง UD Town ยังเล็งเห็นโอกาสที่จะเพิ่มเติมต่อภาพย่านให้พื้นที่ของกิจการกลายเป็น New CBD Hub อย่างเต็มรูปแบบด้วยการสร้างโรงแรมสี่ดาว จำนวน 80 ห้อง ด้วยงบลงทุน 200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี และสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563

“ตอนนี้เขียนแบบเสร็จแล้วจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อต้องการให้เสร็จและพร้อมเปิดให้เข้าพักได้ภายในเดือนตุลาคมปีหน้า”

ทั้งนี้โรงแรมดังกล่าวจะเน้นรองรับกลุ่มลูกค้าระดับ B ขึ้นไปโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารที่เดินทางมาร่วมประชุมสัมมนา เพราะทั้งผู้ร่วมงานและลูกค้าต่าง ๆ สามารถเดินเชื่อมต่อระหว่างศูนย์การค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ และโรงแรมได้ รวมถึงด้วยผลสืบเนื่องจากโครงการ Smart City ของจังหวัดอุดรธานี ที่จะมีระบบคมนาคมขนส่งอย่างรถไฟรางคู่ ซึ่งสามารถโดยสารมาลงหน้าสถานีบริเวณพื้นที่แห่งนี้ได้ด้วย

โดยอภิชามองว่า Smart City เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่จังหวัดอุดรธานีในภาพรวม เพราะช่วยทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้เติบโต

สำหรับความคาดหวังต่อการขยายกิจการครั้งนี้ ทางครอบครัวมองว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดกว่าในปัจจุบันจากปัจจัยที่จะมีผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น โดยคาดว่ารายได้จากฝั่งธุรกิจ MICE จะไต่ขึ้นสูงกว่าฝั่งศูนย์การค้าได้ภายในไม่เกิน 2-3 ปี จากปัจจุบันที่ทำรายได้ถึง 266 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 3-5%

โจทย์หลัก ๆ คือต้องการพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ให้ดีที่สุดก่อนจะขยายไปยังแหล่งอื่น ๆ

 


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เทียบสวัสดิการหญิง ไทยสู้ใครได้บ้าง?

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามาดูว่าการต่อสู้กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ‘สิทธิสตรี’ และสวัสดิการหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว...

Responsive image

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็ก Disney ผันตัวมาเป็น CEO บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็กและนักร้องชื่อดังจาก Disney Channel ล่าสุดเธอผันตัวมาทำ Startup สถานีอวกาศภาคพื้นดินแล้ว...

Responsive image

5 เทคนิคการเขียน Journal ที่ช่วยพัฒนาทักษะของผู้นำ

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะผู้นำผ่านการเขียน Journal...