บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งหนังสือต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่ปัจจุบันการระดมทุนมีหลายรูปแบบ เนื่องด้วยกิจการที่บริษัทฯ ทํานั้น มีเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น จึงมีความจําเป็นที่จะต้องมีการระดมทุนเพื่อส่งเสริมกิจการในด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งหากใช้รูปแบบเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ในประเทศไทยจะมีระบบการระดมทุนที่มีข้อจํากัด
ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงได้มีมติอนุมัติมอบหมายให้คุณ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีอํานาจในการดําเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ตามอํานาจกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อระดมทุนในรูปแบบ Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ดําเนินการ ดังนี้
1) จัดตั้งบริษัท Sponsor เพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัท SPAC
2) จัดตั้งบริษัท SPAC เพื่อนําเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ
ทั้งนี้ บริษัท SPAC จะยังไม่มีกิจการใดๆ เมื่อจดทะเบียนและระดมทุนได้แล้ว จะนําเงินดังกล่าวไปซื้อบริษัทเป้าหมาย (Target Company) ต่อไป
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ทาง ช ทวี ได้จัดตั้ง Koo Dom Investment Limited Liability Company (Koo Dom) ทุนจดทะเบียน 100 เหรียญสหรัฐ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ช ทวี ถือหุ้นใน Koo Dom 100% โดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจโดยสนับสนุนด้านเงินลงทุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินการต่างๆ แก่บริษัท SPAC ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมา กล่าวคือทําหน้าที่เป็นบริษัท Sponsor ตามกฏเกณฑ์การระดมทุนในรูปแบบ SPAC
ในขณะเดียวกัน ทาง ช ทวี ก็ได้จัดตั้ง AROGO Capital Acquisition Corporation (AROGO) ทุนจดทะเบียน 287.50 เหรียญสหรัฐฯ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเช่นเดียวกัน และมี Koo Dom (บริษัทย่อยของ CHO) ถือหุ้น 100% ใน AROGO โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจดทะเบียนบริษัทมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สหรัฐอเมริกา กล่าวคือทำหน้าที่เป็นบริษัท SPAC ตามกฎเกณฑ์การระดมทุนในรูปแบบ SPAC
และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ทาง ช ทวี รับโอนหุ้นทั้งหมดมาจากคุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย และคุณนัทธมน ทวีแสงสกุลไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนบริษัทในการก่อตั้งและถือหุ้นแทน เนื่องจากตามกฎหมายการ จัดตั้งบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาบุคคลธรรมดาเท่านั้นสามารถเป็นผู้ก่อการจัดตั้งบริษัทได้
สำหรับ SPAC : Special Purpose Acquisition Companies คือบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และระดมเงินจากนักลงทุนแล้ว แต่ไม่มีแผนธุรกิจแน่ชัด (Blank check) อาจจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่นโดยเฉพาะ หรือมีความตั้งใจจะควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการอื่น
โดยธุรกิจที่ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ก็จะสามารถระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใต้ชื่อของธุรกิจนั้นเลย และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท SPAC ผ่านเงินทุนและทรัพยากร
ถ้าพิจารณาจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกา ในปี 2020 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการเติบโตของบริษัทที่เข้ามาลงทุนควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐมากขึ้นถึง 131 แห่ง มีดีลเกิดขึ้นกว่า 248 ดีล มูลค่ารวมกว่า 8.3 พันล้านเหรียญ
และตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมาการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ผ่าน SPAC เป็นที่นิยมในบรรดา Startup ทั่วโลกมากขึ้น ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มี Startup ระดับยูนิคอร์นอย่าง Grab ที่เตรียมเข้าตลาดหุ้นอเมริกาผ่าน SPAC โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าบริษัทของ Grab จะพุ่งแตะ 40 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
Sign in to read unlimited free articles