จีนกินรวบ EV จุดจบค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย | Techsauce

จีนกินรวบ EV จุดจบค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย

จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก ล้มยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมันและญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือในประเทศไทย ภูมิภาคที่เคยมีผู้ผลิตรถยนต์เจ้าหลักอย่างญี่ปุ่น ทำไมถึงพ่ายแพ้ให้กับจีน อะไรคือจุดเปลี่ยน 

ทำไมอุตสาหกรรมรถยนต์จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด

นับตั้งแต่ปี 2565 อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 57% ก้าวมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับ 2 ของโลกแซงหน้าเยอรมนี และในไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกก็เพิ่มขึ้นถึง 76% แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างญี่ปุ่น และจุดเปลี่ยนสำคัญคือรถยนต์ไฟฟ้า  

การที่จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความพร้อมและจังหวะเวลาที่เหมาะสม ในช่วงที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งตะวันตกประสบปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ เพราะแหล่งที่จำหน่ายชิ้นส่วนให้กับพวกเขากระจายกันอยู่ในหลากหลายประเทศ

แต่ผู้ผลิตฝั่งจีนมีชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตรถยนต์ครบครันและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งตะวันตกต้องลดปริมาณการผลิตลง

นอกจากนี้สงครามรัสเซียยูเครนทำให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศคว่ำบาตรรัสเซีย รัสเซียจึงต้องซื้อรถยนต์จากจีนมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์จีนอย่าง Great Wall, Chery และ Geely จึงฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์นี้ขายรถยนต์ให้กับรัสเซียได้มากขึ้นนั่นเอง

จุดเปลี่ยนผู้ครองตลาดรถยนต์ในไทย จากญี่ปุ่นสู่จีน

จุดเริ่มต้น อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2493 เมื่อรัฐบาลต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมไปเป็นแบบอุตสาหกรรม จึงเป็นโอกาสทำให้ญี่ปุ่นเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ที่มีค่าแรงต่ำ 

ญี่ปุ่นจึงเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกและครองตลาดรถยนต์ในไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งการเป็นผู้บุกเบิกตลาดยานยนต์ของญี่ปุ่นทำให้มีพันธมิตรเป็นบริษัทยานยนต์ในไทยมากมาย เช่น สยามกลการ หรือโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)

จากการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นในปี 2505 และดำเนินการมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฐานการผลิต ประกอบ และทำชิ้นส่วนยานยนต์ 

จนในปี พ.ศ. 2560 ไทยก็ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ได้มากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก เพราะความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทที่ผลิตและประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นของไทยอย่างสยามกลการ เริ่มมองหาลู่ทางอื่นในธุรกิจยานยนต์ โดยเปลี่ยนขั้วไปเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายรายเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ แทนที่จะเจรจาพูดคุยกับพันธมิตรเดิมอย่างญี่ปุ่น

ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นครองตลาดและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในไทย แต่ปัจจุบันบริษัทจีนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากผู้คนในปัจจุบันต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 

เทรนด์ไทยเปลี่ยนไป รถยนต์ไฟฟ้าคืออนาคต

เมื่อปีที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV กลายมาเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 

ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น: สงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยดีดตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน) เมื่อเกิดสงครามหลาย ๆ ประเทศจึงคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงการส่งออกน้ำมันของรัสเซียก็ต้องหยุดชะงัก 

แต่น้ำมันยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้คนทั่วโลกต้องใช้งาน เมื่อความต้องการซื้อสูง แต่ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยลง ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าที่จะลดลงเลย

รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนรถ EV: นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดัน รัฐบาลไทยมองว่า EV คืออนาคตที่จะทำให้อุตสาหกรรมในไทยเติบโตขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกันกับช่วงที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี พ.ศ.2573 ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในภูมิภาค จึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน

จากการที่โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีรากฐานที่ดี มีความสามารถในการจัดหาชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตได้ภายในประเทศ รัฐบาลไทยจึงมั่นใจและยิ่งส่งเสริมโดยการออกนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิต มอบเงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อรถ EV ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่จับต้องได้

สาเหตุเหล่านี้ทำให้ EV ได้รับความสนใจในประเทศไทยอย่างมาก ดึงดูดทั้งผู้บริโภคชาวไทย และผู้ผลิตชาวจีนให้เข้ามาลงทุน ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 ที่จีนเริ่มรุกหนักในอุตสาหกรรม EV ทางญี่ปุ่นกับยืนกรานและมั่นใจในรถยนต์สันดาป

ทั้ง Toyota, Nissan และ Honda ของญี่ปุ่นไม่มีทีท่าที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกมาเลย แม้เทรนด์โลกจะเปลี่ยน จุดนี้จึงเป็นจุดที่สร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศจีนได้ก้าวมามีบทบาทในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งบริษัทรถยนต์ของไทยและรัฐบาลในเรื่องของความก้าวหน้าและความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

อ้างอิง:  worldcrunch, asia.nikkei, reuters, bbc, cnbc, kr-asia

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...

Responsive image

ปรับองค์กรสู่ Digital Future เริ่มที่ ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ ฟัง NTT DATA ผู้เชี่ยวชาญ Digital Transformation

บทความนี้ Techsauce จะพาไปหาคำตอบว่า…ทำไมทรัพยากรคนถึงมีผลต่อ Digital Transformation และองค์กรควรรับมืออย่างไร?...