ในภาวะที่โลกเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านทรัพยากรที่มีจำกัด ปัญหาสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยจุดแข็งของประเทศไทยจึงทำให้โมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) กลายเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยต่อ ยอดและเพิ่มมูลค่า ดังนั้น สตาร์ทอัพและคนรุ่นใหม่จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมด้วยพันธมิตรจึงได้จัดงานมหกรรม BCG Startup Investment Day เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้แสดงไอเดียและพบปะกับนักลงทุน ที่จะไม่ใช่เพียงแค่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI กล่าวว่า BCG ถือเป็นวาระแห่งชาติที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อที่จะเป็นแนวทางการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในการที่จะนำมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้นสตาร์ทอัพจะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการเชื่อมโยงให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทกับอนาคตของประเทศ
สำหรับ BOI ได้มีการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในหลากหลายด้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทั้งในรูปแบบของการยกเว้นภาษี อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และวัตถุดิบ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพด้วย และ BCG เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่มาโดยตลอด
โดยสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2564 ที่ผ่านมา คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 123 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ
“นอกจากนี้ BOI ยังมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะสามารถนำเงินทุนมาใช้สนับสนุนภาคเอกชนได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดย BOI จะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลากรทางด้านเทคนิคและการบริหาร เพื่อช่วยสตาร์ทอัพแก้ Pain Point ด้านบุคคลากรที่ขาดแคลน โดยให้สามารถขยายผล เพิ่มกำลังการผลิต ขนาดกิจการ ดังนั้นการสนับสนุนตรงนี้ก็จะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ติดขัด รวมถึงช่วยสร้าง ecosystem ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาได้” นางสาวดวงใจกล่าว
ดังนั้น ทาง BOI จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA พร้อมด้วยพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัท อินโนสเปซ จำกัด สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) Reserch University Network Thainland และ CUEnterprise จัดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” เพื่อเพิ่มโอกาสให้สตาร์ทอัพและกลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสนับสนุนในแง่มุมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งงานนี้จะถือเป็น One Stop สำหรับสตาร์ทอัพที่มีไอเดียธุรกิจที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงมาเข้าร่วมงาน และจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ได้กลับไปจะมากกว่าเพียงแค่การสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างแน่นอน
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในปี 2022 นี้ เป็นการครบรอบ 10 ปีพอดี สำหรับพัฒนาการของ startup ecosystem ในประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามามีบทบาทของหน่วยงานราชการที่ให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น หรือการมี National Commitee ตั้งขึ้นมาหลายหน่วยงาน ทั้งนี้เป็นเพราะการที่ทุกภาคส่วนล้วนเห็นความสำคัญของสตาร์ทอัพเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีสตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับ Growth Stage มากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนระดับนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับช่วง Transition
หลายคนอาจจะยังเข้าใจกันว่าสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่ทำแค่ Application แต่ในความเป็นจริงแล้วสตาร์ทอัพมีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่เป็นงานวิจัยระดับสูง หรือที่เรียกกันว่า Deep Tech เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในบริบทนี้ BCG ถือเป็น 1 ใน 3 กลุ่มของสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาหาร (FoodTech) เกษตร (AgTech) และการแพทย์ (MedTech) ซึ่งด้านอาหารและการแพททย์ สตาร์อัพของไทยเริ่มมีจำนวนมากพอสมควร แต่ในกรณีของเกษตรในปัจจุบันยังคงมีน้อยอยู่
นอกจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ BCG แล้ว ยังมีกลุ่ม Dual-use technology ได้แก่ Defense Tech และ Space Tech ที่เริ่มจะมีพัฒนาการขึ้นมาบ้างแล้ว และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่ม AriTech ได้แก่ AI Robotic และ Immersive Tech ปัจจุบันเราจะเห็นสตาร์ทอัพไทยมีผู้เล่นในหลากหลายระดับมากขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มก่อตั้งธุรกิจ จนถึงระดับที่ได้รับเงินระดมทุนหลายร้อยล้านบาท
“NIA ได้มีการตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะด้าน Deep Tech กว่า 100 ราย และเป็น BCG DeepTech Startup จำนวน 65 ราย ภายใน 3 ปี ซึ่งความร่วมมือกับ BOI และพันธมิตรในการจัดมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ครั้งนี้ เป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ครบในที่เดียว และยังเปิดกว้างสำหรับสตาร์ทอัพไทยและต่างชาติที่มีส่วนในการผลักดัน BCG Startup Ecosystem อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย” ดร. พันธุ์อาจกล่าว
นายศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) กล่าวว่า เมื่อปี 2021 การลงทุนของ Venture Capital (VC) ในสตาร์ทอัพทั่วโลกอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ทั้งในแง่ของจำนวนเม็ดเงิน และจำนวนดีลที่เกิดขึ้น ขณะที่ด้าน BCG Startup ในต่างประเทศนั้นได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนของภาครัฐ ความกล้าลงทุนของภาคเอกชน และธุรกิจนำนวัตกรรมไปต่อยอดการใช้งานจริง นอกจากนี้ยังมีเทรนด์ ESG ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ที่ไม่ได้มุ่งแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย จึงส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้ากลุ่ม BCG อย่างมีนัยสำคัญ
“สำหรับเทรนด์การลงทุนในประเทศไทยก็มีลักษณะเป็นไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ โดยปี 2021 ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ดีลการลงทุน และการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพยูนิคอร์น ส่วน เทรนด์ของ BCG Startup ของประเทศไทยอาจจะยังอยู่ในระดับที่เพิ่งเริ่ม และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยคาดว่าจะมีดีลการลงทุนกว่า 100 ล้านเหรียญที่จะเกิดขึ้นในวงการนี้ และมหกรรม BCG Startup Investment Day นี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้เติบโต ด้วยความหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพรายเล็กที่ขาดเงินทุนเริ่มต้น” นายศรัณย์กล่าว
สำหรับงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์ C asean ชั้น 10 อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก รูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น กิจกรรม Startup Pitching กิจกรรม Startup Talk และกิจกรรมสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานครั้งนี้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน
ผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/BCG-Startup-Investment-Day
บทความนี้เป็น Advertorial
Sign in to read unlimited free articles