กรณีศึกษา : Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง? | Techsauce

กรณีศึกษา : Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง?

Blockchain เทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติหลักในเรื่องความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้  และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Blockchain มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ ภาครัฐบาลก็สามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างทุ่มงบประมานในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญก็สามารถช่วยรื้อปัญหาใหญ่อย่างการคอรัปชั่นได้ด้วยเช่นกัน 

เพราะการคอรัปชั่น คือ Pain Point ของการบริการประชาชน ที่ต้องได้รับการแก้ไข

สมัยนี้ทุกสังคมการทำงานต้องการ … คนเก่งและคนดี ที่ควบคู่กันไป เพราะถ้าย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านี้ในสังคมมักจะมีคำถามที่บังคับให้ต้องเลือก ระหว่างคนเก่งกับคนดีอยู่เสมอ คนเก่งอาจจะวัดได้จากผลงาน แต่คนดี นี่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะต้องวัดอย่างไร มาตรฐานอะไรถึงจำกัดความได้ โดยเฉพาะในหน่วยงานขนาดใหญ่อย่างรัฐบาล ซึ่งการที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ นำมาซึ่งการเพิ่มโอกาสในการทุจริตมากขึ้น จากระบบการทำงาน

เพราะถ้าระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ คนก็จะพึงพอใจที่จะอยู่ภายใต้ขอบเขตของระบบนั้น แต่ในทางกลับกันถ้าหากไม่มีประสิทธิภาพ คนจำนวนมากก็มักจะหาวิธีในการแก้ไข และในขณะเดียวกันระบบที่เป็นธรรมก็จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ถ้าไม่เป็นธรรม ในทางกลับกันก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้คนหาทางเลือกที่ผิดกฎหมาย โดยที่พวกเขาจะไม่รู้สึกสำนึกผิดอะไรเลย เพียงเพราะรู้สึกไม่เป็นธรรมจากระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ

จากรายงานของ Transparency International ในปี 2021 พบว่าดัชนีการคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index: CPI) ของไทยอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแย่ลงกว่าปีก่อนหน้า แล้วยังเป็นหนึ่งในกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนน CPI ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2012  (คำนวนจากระดับความรู้สึกเกี่ยวกับหรือการมองปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐของแต่ละประเทศ)  

อย่างไรก็ตามเราก็ได้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหน่วยงานเพื่อมาตรวจสอบ ออกแคมเปญเพื่อรณรงค์ เพิ่มเนื้อหาในบทเรียน รวมถึงแต่งเพลง เพื่อสร้างค่านิยมและปลูกจิตสำนึก แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ออกมาเป็นรูปธรรม

ทั้งหมดนี้เรากำลังเกริ่นนำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการทำงานของรัฐบาลที่ทำให้เกิดการคอรัปชั่น ที่ไม่ได้มองแค่ในประเทศไทย แต่เหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจากความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์ และแก้ปัญหาการโกงที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จากความไม่โปร่งใส่ เทคโนโลยีนี้คือ Blockchain 

Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นอย่างได้บ้าง ?

สำหรับประเทศไทยนับว่าทางรัฐบาลมีความสนใจในการนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวไม่น้อยเลยทีเดียว จากการที่นายกรัฐมนตรีถึงกับได้มีการออกคำสั่งกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนศึกษาในการนำ Blockchain มาใช้บริหารประเทศ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาตร์ชาติ

ดังนั้นในบทความนี้เราจึงได้หยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าในเบื้องต้น Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการคอรัปชั่น ที่เป็นสิ่งฉุดรั้งประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานราชการอย่างไรได้บ้าง 

Blockchain ต้านโกงในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง 

หนึ่งในกระบวนการทำงานที่พบการโกงได้บ่อยก็คือขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยงบประมาณปี 2013 สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลในประเทศกลุ่ม OECD มีมูลค่า 4.2 ล้านล้านยูโร (ประมาณ 155 ล้านล้านบาท) 

จากการประมาณการของ OECD คาดว่า 10-30% ของงบสาธารณะจะสูญหายไปจากการทุจริตในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยจำนวนเงินที่มากขนาดนี้จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทุจริต โดยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และบริษัทคู่ค้าทำให้ง่ายต่อการปิดบัง หรือซ่อนการกระทำผิด 

ดังนั้น Blockchain จึงมีศักยภาพในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ …

ในขั้นตอนการวางแผนเจ้าหน้าที่จะสร้างเกณฑ์การประเมินผล ซึ่งการพิจารณาให้คะแนนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ จึงอาจมีความไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมถึงเกณฑ์การประเมินอาจมีการเปลี่ยนแปลงย้อนหลัง หรือมีการแก้ไขใบเสนอราคาของบริษัท เพื่อให้ได้บริษัทที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น

โดยการใช้ Blockchain ในขั้นตอนนี้จะทำให้ทุกอย่างถูกบันทึกไว้ และถ้าเกิดการแก้ไขก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนแก้ และแก้เมื่อไหร่

นอกจากนี้ Blockchain ยังทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสามารถติดตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีสินบนในประเทศต่างๆ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและปิดบังสื่อเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน รวมถึงกีดกันประชาชนให้ติดตามไม่ได้ การใช้บล็อกเชนจึงทำให้ประชาชนเห็นทุกขั้นตอนในกระบวนการทำงานทั้งหมดได้แบบ Real-time และสามารถเช็คคุณสมบัติหรือคุณภาพจากการทำงานได้ด้วย

ปัจจุบันมีโครงการนำร่องแล้วในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนทำให้ขั้นตอนในการทำงานถูกบันทึกทันที ไม่สามารถแอบมาแก้ไขหรือปรับปรุงบัญชีในภายหลังได้ ข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ทำให้เกิดความโปร่งใส อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่ เช่น ข้อกำหนดเรื่องการเปิดตัวตนของบริษัทคู่ค้า รวมถึงการปรับขนาด (Scalability)

ชนะกลโกงในการขึ้นทะเบียนที่ดินด้วย Blockchain

ความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนหรือกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินและสินทรัพย์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น การปิดการขายอสังหาริมทรัพย์อาจใช้เวลาหลายเดือน ทำให้มีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนที่ดินของอังกฤษที่มีความล่าช้าในการทําธุรกรรมหกเดือนในปี 2015 เนื่องจากกระบวนการขึ้นทะเบียนมีลักษณะเป็นคอขวดและยังคงมีการเรียกร้องในประเด็นเดียวกันนี้อีกถึงปี 2020 ดังนั้นการทุจริตจึงเกิดขึ้นในระบบการขึ้นทะเบียนที่ดินเปรียบเทียบขั้นตอนระหว่างการใช้ Blockchain กับระบบการขายสินทรัพย์แบบเดิมของอังกฤษ
ที่มา: World Economic Forum

จากผลการศึกษาโครงการทุจริตในระบบทะเบียนที่ดินของบังคลาเทศ ประจําปี 2019 ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานอาชญากรรมและการทุจริต พบว่าการได้รับใบอนุญาตในฐานะนายทะเบียนโฉนดที่ดินทำให้เกิดการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งการทุจริตในประเด็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในภูมิภาคที่กําลังพัฒนา แต่ในภูมิภาคที่มีกฎหมายที่มั่นคงมายาวนานขึ้นแล้วก็มีการทุตริตที่ซับซ้อนมากขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนต่อต้านการทุจริต และ Global Witness ประมาณการในปี 2019 ว่าที่ดินในอังกฤษและเวลส์มูลค่า 100 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท) เป็นของคนเดียวซึ่งใช้บริษัทนิรนามแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในประเทศที่เป็นสวรรค์แห่งการเลี่ยงภาษี (tax heaven) ในการขึ้นกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สิน

การใช้ Blockchain เข้ามาช่วยจะช่วยลดกระบวนการที่มีความทับซ้อนและลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการทดลองใช้ที่จอร์เจียในปี 2018 โดยการเปลี่ยนระบบการจดทะเบียนแบบเดิมมาใช้บล็อกเชนทำให้สามารถขึ้นทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินมากกว่า 1.5 ล้านรายการ นอกจากนี้ยังมีการใช้ที่แอฟริกาในเขตเมืองที่ยากจนและมีประชากรหนาแน่น แต่ไม่เคยมีทะเบียนบ้านมาก่อน ซึ่งใช้วิธีการตรวจสอบชื่อในทะเบียนบ้านและความถูกต้องในการขึ้นทะเบียนที่ดิน โดยการให้ผู้อาวุโสรับรองและยืนยันผ่านแอพลิเคชั่น ซึ่งข้อมูลจะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชน ทำให้การประเมินมูลค่าที่ดินมีความสะดวกมากขึ้น

ความท้าทายในการนำมาใช้ (adoption)

จากโครงการตัวอย่างในบทความนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในประเทศอื่นๆ จริงจังกับการแก้ไขบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ Blockchain ย่อมได้กำไรจำนวนมากจากการให้บริการ 

แต่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาก็ต้องทุ่มเทในการออกแบบและใช้งานสําหรับองค์กรขนาดใหญ่ เช่น รัฐบาล ซึ่งต้องมีการปรับแอปพลิเคชันใน Blockchain ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร 

นอกจากนี้การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Blockchain จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจในระบบ เช่นเดียวกับ Digital Transformation ที่จำเป็นต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง


อ้างอิง:  World Economic Forum 


Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...

Responsive image

ปรับองค์กรสู่ Digital Future เริ่มที่ ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ ฟัง NTT DATA ผู้เชี่ยวชาญ Digital Transformation

บทความนี้ Techsauce จะพาไปหาคำตอบว่า…ทำไมทรัพยากรคนถึงมีผลต่อ Digital Transformation และองค์กรควรรับมืออย่างไร?...