ทำไม Blockchain ถึงไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกปัญหา | Techsauce

ทำไม Blockchain ถึงไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกปัญหา

ย้อนกลับไปช่วงตลาดกระทิงรอบล่าสุด ช่วงกลางปี 2021 ทั้ง NFT และ Blockchain ก็กลายเป็น Buzzword ที่ฟังดูดีและล้ำสมัย จนทำให้เกิดเหรียญคริปโท (Layer 1) มากมายที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาเป็นตัวตั้งและแข่งกันทำความเร็วธุรกรรม (Transactions Per Second) 

หลายอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเข้ามาหยิบจับการตลาดตรงนี้และคิดว่า Blockchain จะเป็นนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้ด้วย ไม่ว่าจะการใช้กับการเลือกที่ตั้ง การเกษตร ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งคริปโทฯ 

ตัดภาพกลับมาบนพื้นฐานความเป็นจริง Blockchain ไม่ได้เป็นทางออกสำหรับทุกปัญหา บทความนี้จะช่วยคุณตรวจสอบว่า มีเกณฑ์อะไรบ้างที่จำเป็นต้องใช้ Blockchain มาช่วย พร้อมไปดูข้อดีและข้อจำกัดของเทคโนโลยีนี้กัน

Blockchain เหมาะสำหรับบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง

Blockchain คือวิธีการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งในฐานข้อมูล (database) เป็นซับเซตของ Distributed Ledger Technology (DLT) แต่สิ่งที่แตกต่างจากฐานข้อมูลทั่วไปคือ มันจะเก็บข้อมูลแบบกระจายแทนที่จะเก็บไว้ในที่เดียว (centralized) 

แต่สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป ฐานข้อมูลรวมศูนย์แบบเดิม เช่น SQL Database จะมีประสิทธิภาพและความเร็วในการใช้งานมากกว่า Blockchain อีกทั้งยังอัปเกรดฮาร์ดแวร์เพื่อเพิ่มความเร็วและพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลได้อีกด้วย ในขณะที่ Blockchain จะช้าลงถ้ามีการใช้งานที่มากขึ้น (เว้นแต่มีการอัปเกรด Layer 2 เพื่อมาแก้ไขปัญหา)

3 ปัจจัยที่ควรคิดก่อน หากอยากจะใช้ Blockchain

  1. ต้องการฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน (share database)
  2. ไม่ต้องการใช้ความเชื่อใจในการทำงาน (ไม่มีผู้คุมระบบฐานข้อมูล)
  3. ไม่ต้องการอะไรนอกจากสองข้อข้างบนแล้ว

เพราะ Blockchain มีข้อจำกัดเฉพาะทาง เป็นเทคโนโลยีที่ดีสำหรับบางอย่าง แต่ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกอย่าง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Bitcoin ถึงใช้ Blockchain เพราะมันตอบโจทย์ในสิ่งที่มันต้องการ ซึ่งคือการแชร์บัญชีร่วมกัน (Decentralized) ทำให้ตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังได้ (Transparency) 

โดยการรัน Node เพื่อถือข้อมูล Blockchain ของ Bitcoin กว่า 400 GB เพื่อเช็คธุรกรรมของ Node อื่น ๆ ทำให้ไม่ต้องเชื่อใจใคร (Trustless) หรือต้องมีใครมาคอยควบคุมฐานข้อมูลนี้ (Permissionless) 

ข้อสุดท้ายคือ Bitcoin ไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากสองอย่างนี้ เพราะมีเทคโนโลยีอื่น ๆ มาเสริมความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น Proof Of Work, SHA256 และ difficulty adjustment algorithm Blockchain เป็นหนึ่งในตัวประกอบของ Bitcoin ตอบโจทย์แค่บางแง่ แต่ไม่ได้ครอบจักรวาลทั้งหมด

ตัวอย่าง : ปัญหาที่ไม่เหมาะกับการใช้ Blockchain 

การโอนเงินข้ามประเทศ (International bank transfers)

ธนาคารไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน (share database) การใช้ Blockchain จะมีแต่สร้างความซับซ้อนให้กับขั้นตอนของการยืนยันตัวตน (Know Your Customer) และ นโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (Anti Money Laundering) 

ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระจายศูนย์หรือเปิดใช้ฐานข้อมูลร่วมกันเพราะธนาคารจำเป็นต้องตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้งาน รวมไปถึงระดับประเทศอย่างการใช้มาตรการคว่ำบาตร ทำให้โอนเงินไปในบางประเทศไม่ได้ เพราะฉะนั้นหากธนาคารหยิบเทคโนโลยีนี้มาใช้ สิ่งที่จะตามมาคือแรงกดดันจากรัฐบาลและมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดจนสุดท้ายแล้วก็จะเหมือนไม่ได้ใช้อยู่ดี 

ใช้เป็นทางเลือกใหม่ของตลาดหุ้น (Traditional Stocks and Shares Alternative)

ข้อนี้จะติดปัจจัยข้อที่ 2 ที่กล่าวไว้ ซึ่งก็คือ ต้องไม่เชื่อใจและไม่มีใครควบคุม ซึ่งเป็นไปไม่ได้กับตลาดหุ้นและการถือหุ้น เพราะการเป็นหุ้นส่วนต้องอาศัยความเชื่อใจในแต่ละรอบที่บริษัทมีงบการเงินออกมา ประกอบกับค่าธรรมเนียมจะสูงกว่าปกติทำให้ผู้คนจะเลือกใช้การซื้อขายหุ้นแบบเดิมที่มีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า ยังไม่รวมไปถึงมาตรการกำกับดูแลเมื่อต้องมีการซื้อ-ขายหุ้นที่ต้องมีเวลาเปิดปิดที่ชัดเจน หรืออย่างตลาดหุ้นไทยที่มีการควบคุมเพิ่มในส่วนของ Floor และ Ceiling

การเลือกตั้ง

งานวิจัยจาก Journal of Cybersecurity เผยว่า การใช้ Blockchain รวมไปถึงอินเทอร์เน็ตกับการเลือกตั้งนั้นจะริดรอนสิทธิในการเลือกตั้งของผู้ใช้งาน เพราะความปลอดภัยที่ลดลง รวมไปถึงความเป็นส่วนตัวในการเลือกตั้งด้วย 

อย่าลืมว่า Blockchain เป็น Shared Database ทำให้มีความโปร่งใสในการตรวจสอบแต่ลดความเป็นส่วนตัว เพิ่มความอันตรายที่อาจจะถูกบังคับหรือจับตามองได้ นี่ยังไม่รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ในการโจมตีทางไซเบอร์อย่างเช่น มัลแวร์ distributed denial-of-service attack (DDoS) และ Zero-Day exploit (ช่องโหว่ที่ถูกค้นพบแต่ไร้การป้องกันและยังไม่ถูกเปิดเผย รอวันโดนโจมตี) 

การใช้ smart contract เชื่อมกับสินค้าในโลกจริง

Smart contract คือสัญญาที่สามารถเขียนโปรแกรมลงไปได้ (programmable) เท่ากับว่าเราสามารถสร้างเงื่อนไขในการร่างสัญญาได้ ทำให้มีความน่าเชื่อถือเพราะพิสูจน์ได้ผ่านโค้ด (Code is Law) แต่ถ้าหากเราต้องการเชื่อมสัญญานี้จากโลก Blockchain  ไปสู่โลกจริงจะทำได้จริงไหม? 

คำตอบคือได้ โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า Oracle ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างข้อมูล On-chain และ Off-chain 

แต่ปัญหาจะอยู่ตรงที่ Oracle ที่เราต้องเชื่อใจข้อมูลที่อยู่นอกเชนผ่าน Oracle และเมื่อมีความเชื่อใจเข้ามาเกี่ยวข้องเราจะใช้ Blockchain ไปทำไม?

ตัวอย่าง Blockchain ที่มีการควบคุม

Binance Smart Chain เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ Blockchain ที่ติดปัจจัยข้อที่ 2 คือการต้องเชื่อใจและมีผู้ควบคุม เห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์ที่มีการ ‘หยุดการใช้งาน Blockchain ชั่วคราว’ เพื่อที่จะจัดการปัญหาช่องโหว่จากการบริดจ์เงิน มูลค่าความเสียหายกว่า 566 ล้านเหรียญฯ โดยการหยุด Blockchain เป็นไปได้จาก Node Validators ที่ทำหน้าที่ยืนยันธุรกรรมของ Binance นั้น มีจำนวนที่เรียกได้ว่า น้อยมากๆ (27) เทียบกับ Blockchain ตัวหลักอย่าง Bitcoin และ Ethereum ที่มีโหนดหลักหมื่นถึงหลักแสน (ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการกระจายตัวมากกว่าจำนวน) 

ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในสังคมคริปโทว่า BSC อาจจะเป็น Blockchain ที่ไม่ใช่ Blockchain  แต่ถึงอย่างนั้นปัจจุบัน BSC ก็ยังดำเนินการได้ปกติแบบไร้ความ decentralize และรั้งอันดับ 3 รองจากบิตคอยน์และอีเธอเรียม

Source: Dune Analytics by impossiblefinance

ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่ากระแสการพัฒนาในโลก Blockchain และคริปโทฯ นั้นดำเนินการไปไม่หยุดหย่อน แม้จะมีการล้มละลายของหลายบริษัทเทคฯ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain แต่ก็มีผู้ที่อยู่รอดและดำเนินการพัฒนาต่อ ถึงแม้เทคโนโลยีหลายตัวอย่าง Layer 2 และ Zero-knowledge จะยังอยู่ในระยะฟักตัว แต่หากมีการลงทุนและมีเม็ดเงินเข้าไปสนับสนุนการพัฒนา ไม่แน่ว่าวันนึงเราอาจจะเจอปัญหาที่เหมาะสำหรับการใช้ Blockchain ก็ได้

อ้างอิงข้อมูล

There aren't that many uses for blockchains

Is Blockchain Better Than a Database

What Is the Difference Between Blockchain and DLT?

What It Takes to Halt a ‘Decentralized’ Blockchain Like Binance




Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เทียบสวัสดิการหญิง ไทยสู้ใครได้บ้าง?

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามาดูว่าการต่อสู้กว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ‘สิทธิสตรี’ และสวัสดิการหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว...

Responsive image

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็ก Disney ผันตัวมาเป็น CEO บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ

Bridgit Mendler อดีตดาราเด็กและนักร้องชื่อดังจาก Disney Channel ล่าสุดเธอผันตัวมาทำ Startup สถานีอวกาศภาคพื้นดินแล้ว...

Responsive image

5 เทคนิคการเขียน Journal ที่ช่วยพัฒนาทักษะของผู้นำ

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาทักษะผู้นำผ่านการเขียน Journal...