‘Digital and Innovation’ หน่วยงานที่ BANPU จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนองค์กรที่ Greener & Smarter | Techsauce

‘Digital and Innovation’ หน่วยงานที่ BANPU จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนองค์กรที่ Greener & Smarter

ไม่นานมานี้ ทีมเทคซอสได้รู้จัก ‘Digital and Innovation’ หน่วยงานใหม่ของ บ้านปู (BANPU) ที่มาพร้อมแนวคิดอันก้าวล้ำนำเทรนด์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและต่อยอดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากการพูดคุยกับ ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ Head of Digital and Innovation บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในเรื่องการเร่งพาธุรกิจและบุคลากรภายใน ก้าวข้ามเส้นทางเปลี่ยนผ่านบ้านปูสู่องค์กรดิจิทัล ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ Greener & Smarter 

ทำความรู้จัก Digital and Innovation (D&I) หน่วยงานดิจิทัลที่คุณจะคุ้นชื่อมากขึ้น

ฺBANPU

ดร.ธีระชัย เล่าย้อนไปในช่วงก่อนตั้งหน่วยงาน Digital and Innovation (D&I) ว่า บ้านปูมุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยจัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) ขึ้นในปี 2018 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายและนโยบายการกำกับดูแลและการดำเนินงานด้าน Digital Transformation ขององค์กร ในขณะเดียวกัน บ้านปูมีทีมสนับสนุนการทำงานด้านไอทีและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ก่อน ซึ่งก็คือ หน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) 

และเพื่อการทำงานที่คล่องตัวขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงผนวกรวมทีม DCOE กับทีม IT แล้วจัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ ‘Digital and Innovation (D&I)’ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2022

ด้วยภารกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีพลวัต บ้านปูจึงผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทั่วทั้งองค์กร ร่วมกับการเปิดทางให้ D&I เพิ่มบุคลากรด้านไอทีและผู้ที่มีประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมงาน โดย ดร.ธีระชัยวางกลยุทธ์ให้ทีมแยกกันทำงานเฉพาะด้านเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีมบ่มเพาะนวัตกรสู่การสร้างนวัตกรรม (Incubation)  ทีมวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ทีมปัญญาประดิษฐ์ (AI/Machine Learning) ทีมอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) และทีมดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ร่วมกับการให้ความสำคัญเรื่อง การจัดเก็บและใช้งานข้อมูล (Data) อย่างถูกต้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี  

BANPU

ทุกทีมที่กล่าวถึงข้างต้นจึงทำงานภายใต้หมวก D&I โดยมีพันธกิจสำคัญอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ การนำเทคโนโลยีไปให้พนักงานใช้ทั่วทั้งองค์กร, การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น, การสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร และการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในอนาคต

การรวมศูนย์บุคลากรและจัดสรรทีมที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานหลากหลาย ทำให้ขอบเขตงานภายใต้หน่วยงาน D&I มีความยากง่ายหลายระดับ ตั้งแต่การติดตั้งคอมพิวเตอร์ การติดตั้งโปรแกรม การเขียนโค้ด การพัฒนาอัลกอริทึม การพัฒนาโปรแกรมหรือสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้พนักงานฝ่ายอื่นใช้งานสะดวกได้โดยไม่ต้องเขียนหรือปรับแก้โค้ดน้อยที่สุด (No Code, Low Code) การออกแบบแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันได้เอง การออกแบบสถาปัตยกรรมดิจิทัล การร่วมสร้างและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้ข้อมูลคาดการณ์อนาคต งานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ 

“ณ ตอนนี้ ทีม D&I มีกว่า 90 คนที่เป็นพนักงานประจำ แล้วก็มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกอีกราว 50 คน รวมแล้วเกือบ 150 คน เรารวมทีมแล้วค่อยๆ พัฒนาสิ่งต่างๆ ขึ้นมารองรับความต้องการและทิศทางขององค์กรที่จะต้องมุ่งไป ขณะเดียวกันก็สนับสนุนงานโอเปอเรชันระดับโลกด้วย เพราะเรามีธุรกิจอยู่ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยให้สำนักงานใหญ่ในไทยเป็นผู้นำในการทำ Digital Transformation” ดร.ธีระชัยกล่าว 

BANPU

เส้นทางของ D&I และเป้าหมายตามกรอบระยะเวลา

เนื่องจากหน่วยงาน D&I จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของหลายๆ ทีม (Integration of many teams at the beginning) แต่ละทีมซึ่งมีความรวดเร็วในการทำงานไม่เท่ากัน ความต้องการของผู้ใช้งานหรือลูกค้าก็แตกต่างกัน รวมทั้งทรัพยากรที่ใช้ก็มีการทับซ้อนกันอยู่ ดร.ธีระชัยจึงมุ่งให้ทุกทีมทำงานได้อย่างสอดประสาน จึงกำหนดให้ทีมเดินหน้าตามคอนเซ็ปต์ One Team, One Goal และระบุเป้าหมายกับกรอบเวลาโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  • เป้าหมายในช่วง 1-2 ปีแรก (กลางปี 2022 – 2023) คือ การทำงานที่ Synergy กันได้แบบ One Team, One Goal เรียกว่าเป็นช่วงสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน (Internal Strength) โดยทำคู่ขนานไปกับการติดต่อสื่อสาร การทำเวิร์กช็อปร่วมกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ภายในกลุ่มบ้านปูที่ดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก 

  • เป้าหมายในช่วงปีที่ 3-4 (2024 - 2025) เป็นช่วงของการใช้กลยุทธ์การทำงานที่สอดคล้องกัน (Align strategy) ทั่วโลก โดยแต่ละทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เห็นทิศทางองค์กรเป็นภาพเดียวกัน แชร์ข้อมูลกันได้ หรืออาจแชร์ทีมงานกันได้ด้วย

“ทีม D&I เดินหน้ามาแล้วประมาณปีครึ่ง เรายังคุยกันว่าจะแชร์ทีมงานดิจิทัล (Digital Workforce) ให้เป็น One Team ด้วยไหม หากทำได้ จะทำอย่างไร ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะโอเปอเรชันในประเทศต่างๆ มีบริบทที่ต่างกัน เราต้องร่วมทำงานกันแบบ Synergy เพื่อเร่งให้บ้านปูประสบความสำเร็จตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ได้เร็วขึ้น หลังจากที่บ้านปูดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ปี 2015”

สำหรับเป้าหมายในระยะยาวในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ดร.ธีระชัยบอกเพิ่มว่า เนื่องจาก D&I เป็นหน่วยงานที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนของบริษัทแม่ ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ (Cost Center) จึงต้องเร่งผลักดันให้หน่วยงาน D&I อยู่แบบพึ่งพาตนเองได้ (Self-Sustaining) ในอนาคต 

กล่าวคือ D&I สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือธุรกิจใหม่ แล้วสามารถเลี้ยงหน่วยงานได้ โดยแหล่งรายได้อาจมาจากการให้บริการซอฟต์แวร์ การสร้างแอปพลิเคชัน การขายโซลูชันที่ทีม D&I พัฒนาขึ้น รวมถึงการผลักดันบุคลากรภายในให้เป็นนวัตกร สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และแยกไปจัดตั้งบริษัทใหม่ได้ (Spin off) เพื่อเปลี่ยนฟังก์ชันของหน่วยงาน Cost Center มาเป็นหน่วยธุรกิจที่มีรายได้และสร้าง New S-Curve ได้สำเร็จ เพื่อให้บ้านปูเป็นองค์กรที่ Greener & Smarter ยิ่งขึ้น และเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านพลังงานร่วมกันทั้งองคาพยพ

“ถ้าดูสิ่งที่บ้านปูทำคือ เพิ่มเรื่องการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา ไม่ลงทุนด้านถ่านหินเพิ่ม และทำให้ผลการดำเนินธุรกิจ Better and Smarter โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการดำเนินงานให้ดีขึ้น เร็วขึ้น และฉลาดขึ้น ส่วน D&I ยังมีเป้าหมายในการเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอทางธุรกิจให้ Greener เช่น ทำงานสนับสนุนบ้านปู เน็กซ์ บริษัทเรือธงด้านพลังงานสะอาดของกลุ่มบ้านปูที่ทำเรื่องแบตเตอรี่, e-Mobility, Solar Rooftop เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม การทำ Digital Transformation สามารถก่อเกิดประโยชน์ต่อองค์กรได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ลดขั้นตอนการทำงานลง พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทได้โซลูชันหรือระบบที่ใช้พลังงานน้อยลง ประหยัดต้นทุนมากขึ้น หรือเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในกระบวนการทางธุรกิจ ทว่า การมุ่งดำเนินงานตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปูนั้น หน่วยงาน D&I ก็ยังต้องอาศัยเวลาอีกสักพักในการมีส่วนช่วยทำให้กลยุทธ์นี้บรรลุเป้าหมาย

“บ้านปูใช้เวลา 40 ปี กว่าจะโตมาถึงปัจจุบัน ส่วนหน่วยงาน D&I เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้มาไม่นาน หากดำเนินการได้ตามแผนงาน อีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า อาจจะสามารถเติบโตได้รวดเร็ว กลายเป็นธุรกิจหลักพันหรือหมื่นล้านบาทหรือมากกว่าก็อาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้เราอยู่ในช่วงการหาโอกาสสำหรับการสร้างธุรกิจใหม่ (New S-Curve) ให้กับองค์กร เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เวลา และต้องเปลี่ยนผ่านโดยเริ่มจากการพัฒนา ‘บุคลากรภายใน’ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ อาจทำให้การเดินทางของ D&I ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2030 อาจจะสามารถสร้างธุรกิจดิจิทัลที่มีรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย (Cover Cost) ด้านบุคลากรของหน่วยงาน และสร้างความแข็งแกร่งให้บ้านปูได้ต่อไป” คุณธีระชัยฉายภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต

People Transformation กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านองค์กร

ด้วยจำนวนบุคลากรของบ้านปูและบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่ละคนจึงมีทักษะดิจิทัลไม่เท่ากัน ‘คน’ จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักของการเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรที่ Greener & Smarter ในประเด็นนี้ ดร.ธีระชัยเปิดเผยว่า D&I ต้องช่วยให้บุคลากรของบ้านปูตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดิจิทัล (Digital Awareness) และต้องเพิ่มทักษะดิจิทัลให้แก่พนักงานที่เกี่ยวข้องในสายงาน โดยระบุแนวทางเปลี่ยนผ่านด้านบุคลากร (People Transformation) เอาไว้ดังนี้

BANPU

  • เทรนพนักงานให้มี Digital Mindset และ Growth Mindset ด้วยการพูดคุยกับพนักงาน ชี้ให้เห็นประโยชน์จากการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่ต้องกลัวเทคโนโลยีจะมาแทนที่ แต่ให้ตระหนักว่า เทคโนโลยีจะมาแทนที่คนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น และให้ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วที่เติมความรู้เข้าไปได้ พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ

  • เทรนพนักงานด้วย Digital Coach โดยในหน่วยงาน D&I มี Digital Coach เป็นผู้สอนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่พนักงานทั้งเรื่อง Upskill, Reskill เช่น สอนเขียนโค้ด สอนด้านการใช้ Data จากง่ายไปยาก สอนพัฒนาแอปพลิเคชันด้วยโปรแกรม Power BI สอนการทำงานแบบ Agile อธิบายความรู้ด้าน Design Thinking ฯลฯ 

  • เทรนเดอะเทรนเนอร์ (Train the trainers) เนื่องจากบ้านปูมีธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปให้ทีมงานในต่างประเทศใช้อาจต้องสอนหรือให้คำแนะนำเพิ่ม D&I จึงให้ Digital Coach พัฒนาทักษะบุคลากรให้เป็นเทรนเนอร์หรือโค้ช ที่ถ่ายทอดทักษะให้แก่ผู้ใช้เทคโนโลยีในต่างแดนได้ต่อไป

  • เพิ่มการพูดคุยหรือติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงานมากขึ้น เนื่องจากบ้านปูมีหลายฝ่ายหลายทีม มีทีมทั้งในไทยและต่างประเทศ การสื่อสารกันมากขึ้นจะช่วยให้ทีมเข้าใจกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันได้ราบรื่นขึ้น นำมาสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแชร์โซลูชันที่เหมาะสมให้กันและกันได้ 

มุ่งให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ให้บ้านปูในอนาคต

อย่างที่รับรู้กันว่า รายได้ของบ้านปูมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก นั่นคือ 1) Energy Resources กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน 2) Energy Generation กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และ 3) Energy Technology กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน แต่ในอนาคต ดร.ธีระชัยหวังให้พนักงานทั้งองค์กรมีทักษะดิจิทัลที่สอดคล้องกับงานและทิศทางธุรกิจ ส่วนบุคลากรภายใต้หน่วยงาน D&I สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ และขึ้นแท่นเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ธุรกิจที่ร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่บ้านปู

ความมุ่งมั่นและการทำงานอย่างหนักของหน่วยงานที่จัดตั้งมาเพียงปีครึ่ง D&I จึงไม่หยุดพัฒนาและเดินหน้าไปแล้วกว่า 270 รายการ ทั้งที่อยู่ในขั้นทดลอง/ทดสอบ หรือให้คำแนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษา บางรายการเป็นโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งต้น (Minimal Viable Product: MVP) หรือเป็นโครงการที่พัฒนาโซลูชันจนสามารถใช้งานในองค์กรได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สร้างรายได้กลับเข้ามาในหน่วยงาน และโครงการที่ช่วยลดต้นทุนให้หน่วยงานในบ้านปู เป็นต้น เหล่านี้จึงเป็นบทพิสูจน์ความก้าวหน้าในการมุ่งมั่นใช้และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล

“หน่วยงาน D&I เป็น Key Enabler และเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยซัพพอร์ตงานด้านดิจิทัลทั้งหมดของบ้านปู เราจึงต้องทำให้พื้นฐาน (Foundation) ของเราแข็งแกร่ง มีทีมภายใน (Internal Team) ที่แข็งแรง ร่วมทำงานกับ Global Digital Team เพื่อให้เกิด Synergy และในอนาคต หากมีความสามารถในการสร้างบริการหรือธุรกิจใหม่ได้ เราอาจจะสามารถ ‘Go Beyond BANPU’ คือ ไปทำงานให้คนอื่นและสร้างรายได้กลับเข้าบริษัท เพื่อช่วยทำให้บ้านปูแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

ดร.ธีระชัยกล่าวด้วยความเชื่อมั่น พร้อมยกตัวอย่างโครงการที่โดดเด่น ที่ถูกนำไปใช้งานจริงและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ในอนาคต อาทิ

  • Supply Chain Optimization - ระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับข้อมูลการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น เส้นทางเดินเรือของเรือขนส่งสินค้า ตารางการจัดวัสดุ อุปกรณ์ เป็นต้น

  • Energy Trading - ระบบซื้อขายพลังงานที่มีเทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางของราคาพลังงาน เช่น อีก 5 หรือ 10 นาทีข้างหน้า ค่าไฟอาจต่ำลงหรือสูงขึ้น ช่วยให้ผู้ที่ต้องการเทรดตัดสินใจซื้อ-ขายไฟได้ถูกจังหวะ แม้ระบบนี้ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบ แต่เริ่มมีการใช้งานในออสเตรเลียแล้ว และมีแนวทางในการขยายการใช้งานไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย 

  • Master Data Warehouse - เนื่องจาก Data Source ของกลุ่มบ้านปูกระจายอยู่ในหลายที่และหลายประเทศ ทีม D&I จึงพัฒนา Master Data Warehouse เพื่อเป็นศูนย์รวม Data ของบ้านปู โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเก็บ Data ให้เป็นหมวดหมู่และควบคุมให้เป็น Format เดียวกัน พร้อมกับทำ Corporate Information Factory (CIF) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเก็บ Data Master Files ร่วมด้วย

  • Cybersecurity - ขยายขอบเขตการดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน ส่งผลให้การประกาศสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในปี 2022 บ้านปูได้รับคะแนนประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้าน Cybersecurity เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งหมดนี้ บ่งบอกว่าบ้านปูกำลังเร่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ (Banpu Transformation) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะ ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider) ที่มุ่งนำเสนอโซลูชันที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานครบวงจร ที่เชื่อมโยงจากต้นน้ำถึงปลายน้ำใน 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จคือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการดิจิทัลซึ่งพร้อมด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยเป้าหมายในการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนและร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้คนในวันนี้และในอนาคต

บทความนี้เป็น Advertorial

Sign in to read unlimited free articles

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...

Responsive image

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Key Messages เกี่ยวกับ Sustainability & ESG จากงานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups ในโครงการ KATALYST by KBank โดย Beacon VC...

Responsive image

ปรับองค์กรสู่ Digital Future เริ่มที่ ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ ฟัง NTT DATA ผู้เชี่ยวชาญ Digital Transformation

บทความนี้ Techsauce จะพาไปหาคำตอบว่า…ทำไมทรัพยากรคนถึงมีผลต่อ Digital Transformation และองค์กรควรรับมืออย่างไร?...