มาลองจินตนาการกันว่าถ้าพรุ่งนี้เราไม่มีพลังงาน ชีวิตประจำวันอันแสนสะดวกสบายของเราจะเป็นอย่างไร นี่เป็นคำถามใหม่น่าคิดต่อที่ Techsauce Global Summit 2019 ตั้งใจจะเลือกมาพูดคุยในหัวข้อ A Tomorrow with No Energy: Preparing for the Worst and the Best พร้อม 4 Speakers ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานได้แก่ คุณอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), Ricardo Angel CEO & Managing Partner จาก PTV International Ventures Americas, Jeffrey Char Co-Founder & Chairman จาก TRENDE Inc. และ Shawn Moorhead Global Partnerships Manager & EEx Fund One จาก Elemental Excelerator
ซึ่งประเด็นหลักๆ ในหัวข้อนี้จะเน้นไปที่การลดลงของพลังงานธรรมชาติและการเกิดขึ้นของพลังงานทางเลือกใหม่ที่มีความยั่งยืน
เริ่มที่ความเห็นของ Ricardo Angel หากย้อนกลับไปในช่วงยุค 70 เราต่างพูดมาตลอดมาว่าเราไม่มีน้ำมันที่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่เมื่อมองดูที่ปัจจุบันนี้เรากลับมีปริมาณน้ำมันจำนวนมาก เนื่องจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตน้ำมันได้ในราคาที่ไม่สูงนักและยังได้ปริมาณน้ำมันจำนวนมาก แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าในที่สุดแล้วมนุษย์ก็กำลังย้ายฐานการใช้งานจากพลังงานธรรมชาติไปสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลนพลังงานแต่เพราะเทคโนโลยีที่เรามีได้พาเราไปสู่จุดใหม่
ด้านคุณอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย ได้กล่าวว่าในไทยเองก็มีคลังเก็บน้ำมันจำนวนมากเช่นกัน ทาง ปตท. เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีน้ำมันที่เพียงพอ แต่การเตรียมพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้าก็กำลังอยู่ในการพัฒนาเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าการใช้งานพลังงานรูปแบบใดก็ตามขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของพลังงานนั้น
Shawn Moorhead กล่าวว่า มีโอกาสสำหรับเทคโนโลยีอยู่สูงมากในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน แต่สิ่งสำคัญในการที่เราจะผันตัวไปใช้พลังงานหมุนเวียนต้องดูจากกลไกโดยรวม ไม่ใช่เพียงแค่น้ำมันและพลังงาน แต่รวมไปถึงน้ำ อากาศ การเกษตร และอีกมากมายที่อยู่ในวงจร เพื่อดูว่าเราสามารถนำพลังงานหมุนเวียนไปเสริมในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง และต้องเจาะลึกถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ว่าเราสามารถต่อยอดอะไรเข้าไปได้ ดังนั้นบทบาทของ Accelerator จึงไม่ใช่แค่การให้ทุนวิจัย แต่รวมไปถึงการช่วยผลักดันพลังงานและเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้เข้าถึงทุกคน
ปัญหาของลิเทียมคืออายุการใช้งานที่สั้นและราคาที่ค่อนข้างสูง สำหรับลิเทียมเราคงต้องหวังพึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานของลิเทียมให้นานยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างไรในปัจจุบันลิเทียมและวัสดุอื่นๆ อย่างแผงโซลาร์ถือว่ามีราคาที่ลดลงมาอย่างมากถึง 80% Shawn Moorhead กล่าว
Shawn Moorhead ได้ให้ความเห็นว่า การลงทุนในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนจัดว่าเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ดังนั้นองค์กรจึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดปัญหานี้ เพราะพวกเขาจะสามารถนำพาเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปสู่การใช้งานจริง และเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับพลังงานรูปแบบใหม่นี้
ด้าน Jeffrey Char เสริมว่า มีกรณีศึกษาตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นคือการปรับกฎการควบคุมและจัดการตลาดพลังงาน ให้เกิดการกระจายรายได้จากการมีเพียง 10 บริษัทยักษ์ใหญ่สู่ตัวแทนการผลิตน้ำมันกว่า 500 ราย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดและยังเกิดการผลักดันธุรกิจอีกด้วย
ของเสียและสารเคมีจากแบตเตอรี่และแผงโซลาร์เซลล์นั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และระยะงานการใช้งานของวัสดุต่างๆ ก็มีอายุการใช้งานที่สั้น อีกทั้งยังใช้ทรัพยากรการผลิตมาก แต่คำตอบที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก็คือ นวัตกรรม เพราะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาจะช่วยยืดอายุการใช้งานวัสดุได้มากขึ้น 4-6 เท่า เมื่อนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เราก็จะได้เห็นกลุ่มผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาในวงการนี้มากขึ้น และหลายฝ่ายจะร่วมกันผลักดันจนเราสามารถเห็นพลังงานสะอาดที่แท้จริงได้ในอนาคต
Jeffrey Char เผยว่าบริษัทของเขาเองกำลังทำงานในเรื่องนี้ เราขายพลังงานให้กับครัวเรือนจำนวนมากและยังทำการติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับครัวเรือนด้วย ยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่น บ้านที่มีหลังคาขนาดใหญ่จะนำแผงโซลาร์มาติดเพื่อขายไฟฟ้าให้กับเพื่อนบ้าน ซึ่งนั่นทำให้หลายๆ บ้านที่มีหลังคาบ้านใหญ่เริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจและอยากสร้างรายได้เสริม แต่ถึงอย่างไรก็ตามเรายังคงไม่มีวิธีในการกักเก็บพลังงานเหล่านี้ แต่ในขณะนี้เราก็กำลังจะอยู่ในจุดของการเปลี่ยนแปลงเพราะหลายบริษัทเริ่มหาวิธีการในการผลิตเครื่องกักเก็บพลังงาน ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นก็จะทำให้มีผู้ใช้งานเข้ามามากขึ้นหลายเท่า และราคาของการใช้พลังงานก็จะลดลง ด้านคุณอรุณรัตน์ วุฒิมงคลชัย จาก ปตท. ยังเสริมว่าตอนนี้ ปตท. เองก็กำลังทำการศึกษาด้านที่เก็บพลังงานเหล่านี้เช่นกัน
การนำ AI หรือ Machine Learning มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีจะทำให้คนสามารถเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาในด้านขนส่งและพัฒนาประสิทธิภาพ นี่จะสามารถทำให้พลังงานจากโซลาร์เข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น ภาครัฐเองมีส่วนอย่างมากต่อการสร้างกฏหมายและข้อบังคับที่จะสนับสนุนให้เกิดการใช้งานพลังงานหมุนเวียน Shawn Moorhead กล่าว
ด้าน Jeffrey Char เผยว่า อีกเรื่องหนึ่งสิ่งที่เราต้องแก้ไขคือราคาจากการขนส่ง เพราะในญี่ปุ่น 30% คือค่าขนส่งซึ่งนับว่าสูงมาาก ดังนั้นถ้าเราทำให้การขนส่งง่ายขึ้น ราคาถูกลง ก็จะทำให้คนสามารถใช้งานได้ถูกลง และนี่จะทำให้ผู้คนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น
Ricardo Angel เสริมว่า การจะผลักดันให้เกิดการใช้งานแผงโซลาร์อาจทำได้โดยการลดราคาของอุปกรณ์และช่วยส่งเสริมการขายพลังงานของประชาชน ซึ่งในขณะนี้หลายๆ บริษัทก็เร่งที่จะพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และเมื่อบริษัทต่างๆ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์นี้ เราจะได้เห็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่และโอกาสมากมายทางธุรกิจ สิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้จะเป็นไปได้ และผู้คนจะปรับตัวเข้าสู่การใช้งานพลังงานหมุนเวียน
มนุษย์ยังไม่อยู่ในจุดที่กำลังจะขาดแคลนพลังงานธรรมชาติ แต่มนุษย์กำลังหาพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่ยั่งยืนกว่าที่เคย และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงนี้จะนำพาเอาโอกาสทางธุรกิจมากมายเข้ามาพร้อมกัน องค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนมีส่วนที่จะผลักดันพลังงานรูปแบบใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นจริงได้ในเร็ววัน
Sign in to read unlimited free articles