‘พยายาม 100% = สำเร็จ 100%’ จริงหรอ ? หลายครั้งแม้พยายามเต็มที่ ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นแบบที่ต้องการเสมอไป ยิ่งในการทำงาน การใส่เต็มร้อยอยู่ตลอดเวลาอาจจะทำให้เหนื่อยและหมดไฟได้ง่ายๆ บทความนี้จะพามารู้จัก กฎ 85% ของการทำงาน ที่บอกว่า จะสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่จำเป็นต้องใส่เต็มร้อยเสมอก็ได้
Carl Lewis นักกีฬาชาวสหรัฐ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 9 เหรียญ หนึ่งใน The GOAT (Greatest of all time) ของวงการกีฬาโลก ให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับการเป็นนักกีฬาระดับโลกของเขา และบอกว่าาแนวคิด ‘No pain, no gain’ นั้นไร้สาระ
การซ้อมของคุณควรจะสมเหตุสมผล ในหลายครั้งการพักผ่อนมีความสำคัญมากกว่าการผลักดันตัวเองไปสู่จุดที่เจ็บปวด
Tom Tellez โค้ชของ Lewis เสริมว่าพวกนักกีฬาที่วิ่งสปรินท์ได้แบบเทพๆ ต้องผ่อนคลายใบหน้า กราม และดวงตาขณะวิ่ง (การวิ่งระยะทางสั้น แต่ใช้ความเร็วสูงสุดของร่างกาย เพราะต้องทำเวลาให้น้อยที่สุด)
“อย่ากัดฟัน ถ้าคุณกัดฟัน ความตึงมันจะไหลลงคอและลำตัวไปจนถึงขาของคุณ”
ปัจจุบันหลายบริษัทมีสวัสดิการเป็นโปรแกรมสุขภาพจิต คูปองไปนวด หรือกิจกรรมที่จะช่วยให้พนักงานผ่อนคลาย เพราะเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ยังคงคาดหวังให้พนักงานทำงานอย่างหนัก ต้องสร้าง productivity ให้บริษัทมากๆ หรือมีความไม่สมดุลระหว่างงานกับคน ไม่งานเยอะกว่าคนทำ ก็งานไม่เหมาะกับทักษะของคน
นี่ถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายบริษัทแก้ปัญหา Burnout ของพนักงานไม่ได้ แม้จะลงเงินจำนวนมหาศาลไปกับการดูแลสุขภาพกายและจิตของพนักงาน เพราะปัญหาที่เป็นตอใหญ่ที่สุดอย่าง วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษในองค์กร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการหมดไฟ ยังคงอยู่ บริษัทไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ ถ้ายังใช้วิธีทำงานแบบเดิม
แล้วทำไมเราไม่ลองหาวิธีพยายามแบบเหมาะสมที่สุดแทน แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกัน และนี่คือวิธีคิดของกฎ 85%
‘เวลาของทุกคนมีค่า’ 24 ชั่วโมงของมนุษย์ออฟฟิศก็ไม่ได้มีแค่งาน หลายคนใช้เวลากับครอบครัว หลายคนอยากไปฟิตเนส หลายคนอยากไปนั่งจิบเบียร์ที่ร้านประจำ หัวหน้าทีมควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพเวลาของกันและกัน เวลางานก็ควรจะจบในเวลางาน
เมื่ออยู่ในเวลาทำงาน ทุกคนก็ควรเคารพเวลาการทำงานด้วยการตั้งใจทำ แต่เมื่อนอกเวลางาน ก็ควรให้เกียรติกันด้วยการไม่เอางานไปเกี่ยวข้อง หรือเป็นไปได้ก็ให้มันน้อยที่สุด (อาจยกเว้นให้สำหรับกรณีฉุกเฉินจริงๆ)
ในเมื่อทุ่ม 100% ก็อาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้งไป แทนที่หัวหน้าจะบอกเพื่อนร่วมงานว่า “ทำให้เต็มที่ ใส่เต็มร้อย” ทำไมไม่ลองขอให้ทีมทำให้เกือบเต็มที่ที่สุดดู (สัก 85%)
ผลสำรวจโดย Yale Center for Emotional Intelligence ร่วมกับ Faas Foundation พบว่า 20% ของพนักงานในสหรัฐฯ 1,000 คน มีทั้งอาการหมดไฟสูงและมีส่วนร่วมกับงานในองค์กรระดับสูงเช่นเดียวกัน ความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักนี้ ทำให้เกิดความเครียด คับข้องหมองใจ และมีโอกาสที่จะลาออก
ที่น่าสนใจคือพนักงานกลุ่มนี้ล้วนเป็นหัวกะทิ ที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ชี้ให้เห็นว่าบริษัทอาจต้องเสียบุคลากรดีๆ ออกไป เพราะภาระงานที่มากเกิน
สิ่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกับบริษัทใหญ่ ที่มีระบบการทำงานเป็นลำดับชั้น พนักงานทั่วไปอาจไม่ได้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของบริษัท
แต่ในบริษัทที่ไม่ได้มีพนักงานเยอะ เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับการออกความเห็นและตัดสินใจทิศทางการทำงานร่วมกันนั้น หัวหน้าทีมไม่ควรสร้างวัฒนธรรมการตัดสินใจที่ต้องดีที่สุดทุกครั้ง
การตัดสินใจที่ถูกต้องสัก 85% ก็โอเคแล้ว เพราะการตั้งมาตรฐานสูงสุดตลอดเวลามีแต่จะสร้างความกดดันให้พนักงาน จนพวกเขาอาจไม่กล้าตัดสินใจหรือออกความเห็นอะไรอีก นอกจากนั้นอาจทำให้งานที่กำลังรอการตัดสินใจต้องถูกชะลอให้ช้าลง เพราะไม่มีใครกล้าตัดสินใจ
“พี่ขอด่วนนะ งานนี้ต้องห้ามพลาดนะ” คำพูดประเภทนี้แค่ได้ยินก็ปวดหัวไม่อยากตื่นไปทำงานแล้ว จริงอยู่ที่มันเป็นความจำเป็น แต่หัวหน้าทีมสามารถเลือกใช้คำพูดที่ช่วยให้ลูกน้องผ่อนคลายกว่านี้ได้ หรืออาจะให้เหตุผลความจำเป็นของความเร่งด่วนนั้นด้วย
ถ้าเป็นไปได้ควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีอิสระที่จะเลือก หรือถามถึงสิ่งที่เขาต้องเสียไปเพื่อตอบรับความต้องการของเรา บางคนอาจจะต้องทิ้งธุระสำคัญ บางคนอาจจะต้องหักเวลาที่จะได้พักผ่อน
ในหนึ่งวันอาจมีการประชุมติดกันหลายประชุม การเลิกประชุมก่อน 10 นาทีให้พนักงานได้พักสมองพิสูจน์ด้วยการวิจัยแล้วว่าสามารถช่วยให้พวกเขาผ่อนคลาย พร้อมจะออกไอเดียใหม่ๆ
การวิจัยจาก Human Factors Lab ของ Microsoft ขอให้ผู้ทดสอบสวมเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อตรวจสอบการทำงานของสมอง โดยให้แต่ละคนทดลองวิธีการประชุมที่ต่างกันออกไป กลุ่มหนึ่งประชุมติดต่อกัน 4 ครั้งโดยไม่มีการหยุดพัก อีกกลุ่มจะหยุดพัก 10 นาทีก่อนเริ่มอีกประชุม
โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ไม่ได้หยุดพักเลยจะเครียดสะสม ยิ่งนานเข้ายิ่งโฟกัสไม่ได้ ไม่มีสมาธิกับการประชุมครั้งต่อๆไป ตรงข้ามกับคนที่ได้หยุดพักที่จะเครียดน้อยลงทุกครั้งที่ได้พักสมองก่อนประชุม พร้อมจะกลั่นกรองไอเดียที่ดีที่สุดออกมา
สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวหัวหน้าทีมหรือผู้จัดการก็ต้องตั้งมาตรฐาน 85% นี้ให้กับตัวเองด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างวิถีการทำงานและการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเพื่อนร่วมทีมทางอ้อมด้วย ว่าไม่เป็นไรที่จะพักบ้าง และไม่จำเป็นต้องตึงมากไปกับการทำงานตลอดเวลา
หากหัวหน้าอยากจะเซตวิธีการทำงานแบบ 85% ให้กับทีม แต่ตัวเองยังส่งข้อความหาทีมตอนดึก หรือส่งอีเมลในวันหยุด ก็คงไม่สามารถทำให้ทั้งทีมเข้าใจและทำตามเป้าหมายนี้ได้
แปลและเรียบเรียงจาก : Harvard Business Review
ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย
.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่
Sign in to read unlimited free articles